วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

015 อื่นๆในฐานข้อมูลศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ

ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูล ซึ่งหากมีโอกาสจะค้นคว้ามาเพิ่มเติมให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ

ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค
ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง 52110
บริหารจัดการโดย เอกชน
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-016&word=%

พิพิธภัณฑ์ประตูผา
ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
บริหารจัดการโดย ชุมชน
เนื้อหาการจัดแสดง:ประวัติศาสตร์/โบราณคดี
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-015&word=%

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแม่ทะ
บ้านหลุก หมู่ 6 ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง 52150
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-019&word=%

สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เลขที่ 119 ถ.ลำปาง-แม่ทะ ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง 52100
055-237361, 055-237399 ต่อ 6700-2
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.389999 พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.594002
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-001&word=%

ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนลำปางกัลยาณี
โรงเรียนลำปางกัลยาณี อ.เมือง ลำปาง 52000
เปิดจันทร์-ศุกร์ 09.00-16.00 น.
0-5422-7654
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.301001 พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.510002
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-008&word=%

ศูนย์วัฒนธรรมเขลางค์นคร
ร.ร.เขลางค์นครโรงเรียนเขลางค์นคร อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.00-17.00 น.
0-5422-6932
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-007&word=%

014 พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา
เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 52220
เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
รอบการเข้าชม 9.00, 10.30, 13.00 และ 14.30 น.
0-5425-4930-5
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี 2548
เนื้อหาการจัดแสดง: ธรรมชาติวิทยา


เหมืองแม่เมาะเป็นเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตามประวัติเหมืองแห่งนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 หลังจากที่ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2470 ถึงเจ้าพระยาพลเทพ ให้สงวนแหล่งถ่านหินในประเทศให้ทางราชการเป็นผู้ดำเนินการ แทนที่จะให้สัมปทานแก่เอกชน

ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา(เหมืองแม่เมาะ) เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลให้สงวนแหล่งถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ ไว้ใช้ในราชการ ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติจนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา(เหมืองแม่เมาะ) เป็นอาคารชั้นเดียวรูปทรงทันสมัย สร้างอยู่บนเนินเขาภายในบริเวณสวนพฤกษชาติ ของเหมืองแม่เมาะ ภายในแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรก บริเวณโถงทางเข้า ต้อนรับผู้เข้าชมด้วย วิดีทัศน์ความยาว 2 นาที แนะนำ "ถ่านน้อย" เด็กชายตัวป้อม สีผิวคมเข้มดำสนิทไปทั้งตัว ที่จะพาเราเข้าสู่เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์นี้ต่อไป จากนั้นประตูห้องเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 7 เปิดรอให้ผู้เข้าชม เข้าร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งของเหมืองแม่เมาะ ชมวิดีทัศน์พระผู้เป็นที่รักและรัฐธรรมนูญไทย ความยาวประมาณ 5 นาที ผนังรอบด้านแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และที่ดูเหมือนจะเป็น "ไฮไลต์" ของห้องนี้คือ ผนังกระจกใสที่เบื้องหน้ามองเห็นโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินที่มีทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง พร้อมผนังส่วนหนึ่งที่แสดงพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยาพลเทพ เรื่องให้สงวนแหล่งถ่านหินให้ราชการดำเนินการเอง

ส่วนที่ 2 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับธรณีวิทยาทั้งหมด ห้องแรกเป็นห้องถ่านน้อยที่จะเริ่มเตรียมความรู้เบื้องต้นให้แก่ผู้ชมเกี่ยวกับธรณีวิทยา การกำเนิดโลก วิวัฒนาการของโลกจากบรมยุค สู่มหายุค ยุค และสมัย ตามลำดับ และวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต โดยฉายภาพยนต์ 3 มิติ ความยาวประมาณ 12 นาที บรรยากาศภายในห้องเหมือนกับเราอยู่ในโลกยุคโบราณ มีเสียงภูเขาไฟระเบิด ธารลาวาที่ไหลมาจากปล่องภูเขาไฟ ความสนุกสนานในโลกบรมยุคของบรรดาผู้ชมถูกดึงกลับสู่โลกแห่งความจริงเมื่อไฟในโรงสว่างขึ้น และผู้นำชมบอกว่าเชิญชมห้องถัดไปครับ!หลังจากชมภาพยนตร์แล้ว

ห้องถัดไปจัดแสดงสภาพนิเวศน์ ซากดึกดำบรรพ์ พืช และสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในมหายุคต่าง ๆ ที่เราได้ดูไปแล้วในภาพยนตร์ อาทิ มหายุคพาลีโอโซอิก มหายุคไทรโลโบท์ ที่เริ่มตั้งแต่ 570 ล้านปี สิ้นสุดเมื่อ 245 ล้านปีที่ผ่านมา จากนั้นมาเป็นมหายุคมีโซโซอิก มหายุคของไดโนเสาร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผู้ไม่มีความรู้ด้านธรณีวิทยาอาจจะมึนงงได้เล็กน้อย แต่ก็จะตื่นตาตื่นใจไปกับบรรยากาศที่เหมือนหลุดเข้าไปอยู่อีกโลก ห้องถัดไปจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับลำดับชั้นหินและถ่านแอ่งแม่เมาะ โครงสร้างธรณีวิทยาแอ่งแม่เมาะ มีตัวอย่างถ่านหินคุณภาพต่าง ๆ ให้ชม พร้อมวิดีทัศน์ให้ความรู้เกี่ยวกับชั้นหิน

ส่วนที่ 3 จัดแสดงเรื่องเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองแม่เมาะปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในห้องจัดแสดงมีวิดีทัศน์สาธิตกระบวนการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ แบบจำลองการทำเหมืองเปิดถ่านลิกไนต์ มีภาพ real time "ของจริง" แสดงการทำงานภายในเหมืองแม่เมาะด้วย ข่าวด้านลบต่าง ๆ เกี่ยวกับมลภาวะจากเหมืองแม่เมาะที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านในชุมชนรอบเหมือง ทำให้ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงพยายามพูดถึงการควบคุมมลพิษจากโรงไฟฟ้า สภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไป มีวัวจำลองตัวน้อยกำลังเล็มหญ้าด้วยหน้าตามีความสุข คุณภาพชีวิตชุมชนที่ดีบริเวณแม่เมาะนำเสนอผ่านวิดีทัศน์ที่มีคำสัมภาษณ์จากชาวบ้าน(ที่ถูกเลือกแล้ว?)

ร้านของของที่ระลึกบริเวณมุมด้านหน้า จัดไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบที่การจับจ่ายและการเก็บของไว้ "ระลึก" ถึงประสบการณ์ที่ได้รับ แต่การชมพิพิธภัณฑ์นี้ยังไม่จบแค่ในตัวอาคาร บริเวณด้านหลังอาคารภายนอกมีสะพานไม้ทอดยาวไปสู่จุดชมวิว บริเวณปลายสุดใกล้ตาเบื้องล่าง จัดแสดงรถขุดแร่ พานลำเลียง และเครื่องจักรขนาดใหญ่ต่าง ๆ ไว้ท่ามกลางสนามหญ้าเขียวขจี ส่วนเหมืองแม่เมาะขนาดยักษ์ที่โอบล้อมด้วยทิวไม้และหุบเขา มองเห็นอยู่เบี้องล่างไกลตาออกไปรอบการเข้าชมมี 4 รอบต่อวันพร้อมผู้นำชม รอบที่ 1 เวลา 9.00 น. รอบที่ 2 เวลา 10.30 น. หยุดพักเที่ยง รอบที่ 3 เวลา 13.00 น. และรอบที่ 4 เวลา 14.30 น.

ข้อมูลจาก:
1.การสำรวจภาคสนามวันที่ 14 กันยายน 2549
2.แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา(
เหมืองแม่เมาะ)3.http://maemohmine.egat.co.th/aboutus/index.html[access 20061212]

ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-018&word=%

013 ศูนย์บ้านปูนิทัศน์

ศูนย์บ้านปูนิทัศน์
กิโลเมตรที่ 555 ถ.พหลโยธิน บ้านวังยาว ตำบลแม่กัวะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง 52170
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมวิทยากร
0-5422-8346
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี
เนื้อหาการจัดแสดง: ธรรมชาติวิทยา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 13.979000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 100.613998

ปัจจุบันมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์ธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ของตนเองควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่อบุคคลทั่วไปในรูปแบบของศูนย์เผยแพร่ข้อมูล หรือพิพิธภัณฑ์ สำหรับศูนย์บ้านปูนิทัศน์ จังหวัดลำปาง เป็นตัวอย่างหนึ่งของลักษณะการดำเนินงานดังกล่าว ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยงานเหมืองลำปาง ของบริษัทบ้านปู จำกัด ริมทางหลวงสายลำปาง-เชียงใหม่ อำเภอสบปราบ

วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลและแสดงแนวคิดทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทบ้านปู จำกัด โดยต้องการให้เป็นแหล่งความรู้เบื้องต้นทางธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และระบบคุณภาพต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน บริษัทบ้านปู จำกัด ศูนย์บ้านปูนิทัศน์

มีพื้นที่จัดนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกเป็นมุมประวัติความเป็นมาและแนวคิดธุรกิจของกลุ่ม บริษัทบ้านปู จำกัด เริ่มตั้งแต่ยุคแรกเริ่มการทำธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในปี 2526 จนปัจจุบันที่ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจไฟฟ้าด้วยและมีดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งในประเทศ และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนนำเสนอวิสัยทัศน์ และพันธกิจของบริษัท พร้อมกับถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับ

ส่วนที่สอง เป็นมุมความรู้เกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหิน นำเสนอภาพและขั้นตอนในการผลิตถ่านหิน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลการสำรวจและแปลความหมายทางธรณีวิทยา ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตถ่านหินจนสำเร็จรูป และการส่งมอบให้ลูกค้า และมีการจัดแสดงโมเดลขนาดเล็กของรถขุด รถจักรต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจการเหมือง

ส่วนที่สาม จัดแสดงเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยรวบรวมภาพกิจกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานต่าง ๆ ที่บริษัทได้นำมาใช้ในทุกหน่วยงานผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบที่ได้รับการับรองแล้วอาทิ การบริหารคุณภาพ(ISO 9002) การบริหารด้านสิ่งแวดล้อม(ISO 14001) การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย(TIS 18000)

ส่วนที่สี่ จัดแสดงข้อมูลและตัวอย่างซากบรรพชีวิน(fossil) ที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวโยงถึงเรื่องธรณีวิทยา และขั้นตอนการกำเนิดถ่านหินที่พบจากแหล่งถ่านหินต่าง ๆ ของบริษัท คือ แหล่งบ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แหล่งแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และแหล่งเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซากบรรพชีวินที่จัดแสดง อาทิ กระดูกเชิงกรานและกระดูกโคนหางของ "สยามไมโทรันนัส อีสานเอนซีส" กระดูกต้นขาและกระดูกสันหลังของ "ภูเวียงโกซอรัส สอรินธรเน"

และยังมีตัวอย่างถ่านหิน และแร่ดินบอลเคลย์จากเหมืองลำปาง อำเภอแม่ทะ ถ่านหินจากเหมืองเชียงม่วนและเหมืองลำพูน และการจัดแสดงที่เป็นเรื่องทั่วไปและอาจจะดึงความสนใจของผู้ชมทั่วไปได้บ้างคือ นิทรรศการไดโนเสาร์ไทย ที่นำเสนอภาพเขียนและรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีการขุดค้นพบซากในประเทศไทย

ส่วนที่ห้า เป็นห้องแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน อาทิ เครื่องจักสาน ผ้าปูโต๊ะ เสื้อทอพื้นเมือง ผ้าทอฝ้ายทอมือฝีมือชาวปกากะญอ ที่อยู่ในชุมชนที่เป็นพื้นที่ตั้งเหมืองและบริเวณใกล้เคียง โดยร่วมอยู่ในโครงการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนที่บริษัทดำเนินการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและฝึกอาชีพให้ชุมชนพัฒนาทักษะการประดิษฐืหัตถกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงฝึกอาชีพอื่น ๆ เช่น ตัดผม ซ่อมเครื่องยนต์ การปลูกผักและไม้ผล เพื่อหารายได้เพิ่มเติมหรือเป็นอาชีพรองรับให้กับคนในชุมชนหลังจากที่เหมืองสิ้นสุดการทำงานและปิดตัวลง โดยบริษัทได้นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาจัดแสดงและจำหน่ายให้ศูนย์บ้านปูนิทัศน์ เพื่อเผยแพร่กิจกรรมและเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ข้อมูลจาก:
1.การสำรวจภาคสนาม วันที่ 18 กันยายน 2549
2.แผ่นพับประชาสัมพันธ์ศูนย์บ้านปูนิทัศน์
ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-021&word=%

012 ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว(บ้านจ้างหลวง)

ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว(บ้านจ้างหลวง)
33 หมู่ 9 บ้านข่อย ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง 52110
เปิดทุกวัน
0-5422-0380
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.888000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.938004


ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว หรือ บ้านจ้างหลวง (ช้างหลวง) ตั้งอยู่บริเวณถ้ำโจร ในอำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งก่อตั้งโดยครูคำอ้าย เดชดวงตา โดยได้รวบรวมงานไม้แกะสลักซึ่งเป็นผลงานของผู้ก่อตั้ง เรือนเก็บงานแกะสลักเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ดูคล้ายช้าง แทบทุกส่วนของอาคารออกแบบตกแต่งด้วยศิลปะที่กลมกลืน และเคยใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานไม้แกะสลักของครูคำอ้าย

แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ถูกไฟไหม้ไป ทำให้ผลงานถูกไหม้ไฟไปประมาณ 50-60 ชิ้น ครูคำอ้ายได้ตั้งใจที่จะใช้ที่นี่เป็นโรงเรียนฝึกอบรมและสอนงานศิลปะ โดยเฉพาะงานประติมากรรมไม้แกะสลัก เพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น โดยศูนย์ได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถาบันจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้สนใจติดต่อเข้าที่ชมศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงามสามารถสอบถามรายละเอียดได้โทร. 054-220380, 054-36–5229

นอกจากนั้นแล้ว ภายใจถ้ำโจรยังเป็นถ้ำที่งดงามด้วยม่านหินย้อยในแต่ละโถงถ้ำเล่ากันว่าอดีตเคยเป็น ที่อาศัยของโจรมาก่อน ภายในถ้ำได้พบภาพเขียนประวัติศาสตร์บ้านห้วยหก เป็นภาพเขียนสีแดงของกลุ่มคนเดินเรียงแถว มีอายุประมาณ 2,000-3,000 ปี เป็นยุคสังคมเร่ร่อน ซึ่งลักษณะของภาพเขียนดังกล่าวไม่ ค่อยได้พบเห็นมากนักในประเทศไทย

ข้อมูลจาก
1. http://www.lampang.go.th/map_lampang/A-yowe.htm[accessed 20070213]
2. http://www.ptttravelwow.pttplc.com/travel_information/travel_info_plan_detail.php?id=4152[accessed 20070213]

ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-020&word=%

011 บ้านเสานัก

บ้านเสานัก
ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดทุกวัน 10.00-17.00 น.
0-5422-7653, 0-5422-4636
ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี 2535
เนื้อหาการจัดแสดง: งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.097000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.339996


บ้านเสานัก เป็นชื่อภาษาเมืองหมายถึงบ้านที่มีเสาจำนวนมาก บ้านเสานักเป็นบ้านที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมากหลังหนึ่งในจังหวัดลำปาง ก่อสร้างในปีพ.ศ.2428 โดยหม่องจันโอง จันทรวิโรจน์ ชาวพม่าที่มาตั้งรกรากในลำปางในห้วงที่ลำปางเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทำไม้สักที่เฟื่องฟูมากในภาคเหนือ สถาปัตยกรรมของบ้านผสมผสานทั้งแบบพม่าและพื้นเมืองล้านนา โดยแบบระเบียงบ้านได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบพม่า

ในขณะที่หลังคาและโครงสร้างโดยทั่วไปเป็นแบบล้านนา บ้านเสานักมีเรือนนอนสองหลังเชื่อมต่อกันด้วยหลังคา โดยส่วนพักอาศัยทอดยาวตลอดด้านหน้าของตัวบ้าน ชื่อบ้านเสานักตั้งโดยม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เนื่องจากมีเสาไม้สักถึง 116 ต้น เนื้อที่ของบ้านตกราว 3 ไร่ ประกอบด้วยเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนหมู่ โรงรถ และยุ้งข้าว มีบ่อน้ำหน้าบ้าน 2 บ่อ หลังบ้าน 1 บ่อ ไม้ยืนต้นอายุมากกว่าตัวบ้านคือ ต้นสารภีหลวง ซึ่งยืนตระหง่านอยู่ตรงทางเข้าในปี 2507

เมื่อบ้านตกอยู่ในครอบครองของคุณหญิงวลัย ลีลานุช หลานตาของผู้สร้าง โครงสร้างบ้านเริ่มเสื่อมลงไปตามกาลเวลา จึงมีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ภายใต้การควบคุมของคุณทวีศักดิ์ จันทรวิโรจน์ น้องชายของคุณหญิงวลัย ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง การซ่อมแซมใช้เวลากว่า 10 ปี พื้นดินถูกยกขึ้นจากเดิมเพื่อป้องกันน้ำท่วม เสาบางต้นมีการโบกปูนทับแล้วใช้ไม้อัดประกบ เพราะไม้สักแม้จะทนทานแต่ย่อมผุพังตามกาลเวลา พื้นไม้ของชานบ้านเปลี่ยนเป็นปูกระเบื้องแทน และมีการปิดร่องไม้สักด้วยสังกะสี

ปี 2530 คุณหญิงวลัย ตัดสินใจรื้อยุ้งฉางเก่าในบริเวณบ้านแล้วนำยุ้งฉางใหม่ที่อายุใกล้เคียงกับของเดิมมาแทนที่ ซึ่งยุ้งฉางใหม่มีเสากว่า 24 ต้น เพื่อความสมบูรณ์ของการสร้างยุ้งฉาง ได้มีการประกอบพิธีกรรมพื้นบ้านฮ้องขวัญกู่ข้าวเพื่อเชิญให้ขวัญซึ่งอาจจะหนีหายไประหว่างการก่อสร้างกลับคืนมาหลังจากนั้นในปี 2535 คุณหญิงวลัย ก็ถึงแก่อนิจกรรม บ้านเสานักจึงไม่มีผู้อยู่อาศัยอีก ทายาทคนต่อมาคือ คุณฌาดา ชิวารักษ์ (ภรรยาของลูกชายคนเดียวของคุณหญิงวลัย- ร.ต.อ.วันจักร ไวยวุฒิ) เป็นผู้ดูแลบ้านคนปัจจุบัน และเปิดบ้านเสานักให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและรับจัดสัมมนา งานเลี้ยงแบบพื้นเมืองภายในบ้านเสานักจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ เช่น แหย่งช้าง(ที่นั่งบนหลังช้าง)ของเจ้าหลวงลำปาง หีบโบราณ เครื่องอัดกลีบผ้าม่วง กำปั่นเหล็ก เครื่องเขิน เครื่องเงิน แอ๊บหรือหมากเงินศิลปะล้านนา ศิลปะเขมร ซองพลู จัดไว้ในตู้โชว์ มีหนังสือบรรยายประกอบการชม ที่ผนังติดภาพเจ้าดารารัศมี และภาพของเจ้าของบ้านรุ่นแรก

ข้อมูลจาก:
1. Ping Amranand and William Warren. Heritage Homes of Thailand. Bangkok: The Siam Society, 1996,pp118-121.
2. เอื้อมพันธุ์ , ปวัตร สุวรรณเกต. "ภาคภูมิ งามสง่า บ้านเสานัก." กรุงเทพธุรกิจ. วันที่ 7 มกราคม 2548, 8-9

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-010&word=%

010 บ้านป่องนัก

บ้านป่องนัก
ภายในมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52000
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
0-5422-5941-3 ต่อ 3318
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย หน่วยงานราชการ
ก่อตั้งปี เนื้อหาการจัดแสดง: งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม,บุคคลสำคัญ


“บ้านป่องนัก” เป็นภาษาคำเมืองที่คนภาคเหนือเรียกกัน ซึ่งคำว่า “ป่อง” นั้นหมายถึงหน้าต่าง คำว่า “นัก” หมายถึง มาก ฉะนั้น “บ้านป่องนัก” จึงหมายถึง บ้านที่มีหน้าต่างจำนวนมาก บ้านป่องนักได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยกรม ยุทธการทหารบก และควบคุมการก่อสร้างโดยพันโทพระมหาณรงค์เรืองเดช ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปกว่า 16,000 บาท

ในการสร้างบ้านบ้านป่องนักขึ้นมานั้น เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2469 และต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ก็ได้จัดให้เป็นพลับพลาที่ประทับอีกครั้ง ครั้นเมื่อเสด็จกลับได้จึงได้มีการปรับเป็นกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 7 จนถึง พ.ศ.2513

ปัจจุบันนี้ “บ้านป่องนัก” ก็ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่ทหารของค่ายสุรศักดิ์มนตรี โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม ซึ่งเมื่อมองจากด้านนอกของตัวบ้าน จะเห็นว่าตัวบ้านสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปผสมไทย มีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข

ส่วนสิ่งสำคัญที่โดดเด่นสะดุดตามากก็คือ หน้าต่างของบ้านทั้งด้านบนและด้านล่างของบ้าน ที่มีลักษณะเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้านไปหมด ซึ่งมีจำนวนมากถึง 250 บาน และมีช่องหน้าต่างกว่า 469 ช่อง ภายในตัวบ้าน ได้จัดแสดงห้องต่างๆไว้มากมาย โดยแต่ละห้องจะมีการจัดข้าวของจัดแสดงไว้ ห้องด้านล่างเป็นที่เป็นรวบรวมปืน และหมวกของทหาร ส่วนอีกห้องจัดแสดงเรื่องราวประวัติของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ตัวบ้านด้านบน จะมีบันไดแบบเวียนเวียนขึ้น – ลง จำนวน 2 บันได นำขึ้นไปสู่ตัวบ้านด้านบน ที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ ห้องเช่นกัน มีทั้งห้องที่จัดแสดงเครื่องใช้อย่างพวก ถ้วย ชามสมัยโบราณ เครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคเก่า เตียงนอนทหาร รวมไปถึงยังมีห้องจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเขียนสีประตูผาที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจของจังหวัดลำปาง

อีกทั้งยังมีภาพถ่ายโบราณ (ภาพขาวดำ) ที่จัดแสดงไว้มากมาย ให้ได้เดินชมและศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปางปัจจุบันบ้าน ป่องนัก ตั้งอยู่ภายในมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าไปเที่ยวชมบ้านป่องนักสามารถติดต่อไปได้ที่ กองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 32 โทร. 054-225941-3 ต่อ 3318

ข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000111323[accessed 20070213]

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-022&word=%

009 พิพิธภัณฑ์สถานภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา

พิพิธภัณฑ์สถานภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา
ร.ร.แจ้ห่มวิทยา 371 หมู่10 ถ.แจ้ห่ม-วังเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง 52120
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.00-16.00 น.
0-5427-1399, 0-5427-1397, 0-1030-9157
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
ก่อตั้งปี 2542เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา


พิพิธภัณฑสถานภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยความร่วมมือของคณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ สมาคมผู้ปกครอง-ครูโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ผู้ปกครองนักเรียน ชาวบ้านในอำเภอแจ้ห่ม และหน่วยงานในท้องถิ่นอำเภอแจ้ห่ม ร่วมกันบริจาคสิ่งของเครื่องใช้พื้นถิ่น

จากนั้นในปี พ.ศ.2543 โรงเรียนแจ้ห่มได้ปรับสภาพอาคารเรียนเพื่อเป็นอาคารจัดแสดงใช้ชื่อว่า อาคารอดุลปัญญา เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาทางศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในอำเภอแจ้ห่ม ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 และมีการปรับปรุงการจัดแสดงโดยความร่วมมือของกรมศิลปากร ระหว่าง พ.ศ. 2544 - 2545

อาคารจัดแสดงเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 10 ส่วน เริ่มจากบทนำ ที่แนะนำการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์, เกียรติประวัติเจ้าพ่อพญาคำลือ, ข้อมูลอำเภอแจ้ห่ม, วัดและโบราณสถาน, ประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อ, ดนตรีพื้นบ้าน, ผ้าและการแต่งกาย, การละเล่นพื้นบ้าน, เรือนอาศัย และอาชีพและการทำมาหากิน

มีคำบรรยายประกอบการจัดแสดง และมีวิทยากรนำชมโดยนักเรียนที่เป็นคณะทำงานของพิพิธภัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา เป็นโครงการจัดแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ขยายผลไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และเป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนในวิชาท้องถิ่นศึกษา สังกัดกลุ่มสหวิทยาเขตพญาวัง ที่ประกอบด้วยโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเขตจังหวัดลำปาง จำนวน 32 โรงเรียน โดยโรงเรียนต่าง ๆ จะหมุนเวียนเดินทางมาใช้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อเรียนเกี่ยวกับเรื่องราวท้องถิ่นจากสิ่งประดิษฐ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น

โรงเรียนแจ้ห่มวิทยามีโครงการจัดทำสิ่งพิมพ์แผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑ์ โดยนักเรียนเป็นผู้เขียนและจัดทำ และยังมีโครงการให้หน่วยงานอื่นยืมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ไปจัดแสดง ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปางเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับอนุเคราะห์ให้ยืมวัตถุจัดแสดงของโรงเรียนไปจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม

และในอนาคตอันใกล้นี้มีโครงการขุดค้นเมืองโบราณแจ้ห่ม ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ถือเป็นโครงการใหญ่และสำคัญของพิพิธภัณฑ์นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การแสดงดนตรีพื้นเมือง "วงสะล้อซอซึง" ประกอบการฟ้อนรำ จ๊อยซอ การตีกลองสะบัดชัย กลองปูจา ฟ้อนดาบ การสืบค้นข้อมูลของนักเรียนในรายวิชา "วิถีไทย - ภูมิปัญญาไทย" ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 การประดิษฐ์เกวียนไม้จำลองจากไม้สักแกะสลักลาย เป็นงานฝีมือของนักเรียน โดยงบประมาณในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งได้มาได้การจำหน่ายงานหัตถกรรมของนักเรียนที่นำมาฝากขายที่พิพิธภัณฑ์

ข้อมูลจาก:
1. การประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง
2. แบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และแผ่นพับประชาสัมพันธ์โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา3. กรมศิลปากร. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ (เล่ม 2). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2546.

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-014&word=%