วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

015 อื่นๆในฐานข้อมูลศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ

ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูล ซึ่งหากมีโอกาสจะค้นคว้ามาเพิ่มเติมให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ

ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค
ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง 52110
บริหารจัดการโดย เอกชน
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-016&word=%

พิพิธภัณฑ์ประตูผา
ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
บริหารจัดการโดย ชุมชน
เนื้อหาการจัดแสดง:ประวัติศาสตร์/โบราณคดี
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-015&word=%

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแม่ทะ
บ้านหลุก หมู่ 6 ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง 52150
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-019&word=%

สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เลขที่ 119 ถ.ลำปาง-แม่ทะ ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง 52100
055-237361, 055-237399 ต่อ 6700-2
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.389999 พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.594002
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-001&word=%

ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนลำปางกัลยาณี
โรงเรียนลำปางกัลยาณี อ.เมือง ลำปาง 52000
เปิดจันทร์-ศุกร์ 09.00-16.00 น.
0-5422-7654
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.301001 พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.510002
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-008&word=%

ศูนย์วัฒนธรรมเขลางค์นคร
ร.ร.เขลางค์นครโรงเรียนเขลางค์นคร อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.00-17.00 น.
0-5422-6932
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
เนื้อหาการจัดแสดง:วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-007&word=%

014 พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา
เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 52220
เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
รอบการเข้าชม 9.00, 10.30, 13.00 และ 14.30 น.
0-5425-4930-5
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี 2548
เนื้อหาการจัดแสดง: ธรรมชาติวิทยา


เหมืองแม่เมาะเป็นเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตามประวัติเหมืองแห่งนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 หลังจากที่ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2470 ถึงเจ้าพระยาพลเทพ ให้สงวนแหล่งถ่านหินในประเทศให้ทางราชการเป็นผู้ดำเนินการ แทนที่จะให้สัมปทานแก่เอกชน

ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา(เหมืองแม่เมาะ) เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลให้สงวนแหล่งถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ ไว้ใช้ในราชการ ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติจนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา(เหมืองแม่เมาะ) เป็นอาคารชั้นเดียวรูปทรงทันสมัย สร้างอยู่บนเนินเขาภายในบริเวณสวนพฤกษชาติ ของเหมืองแม่เมาะ ภายในแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรก บริเวณโถงทางเข้า ต้อนรับผู้เข้าชมด้วย วิดีทัศน์ความยาว 2 นาที แนะนำ "ถ่านน้อย" เด็กชายตัวป้อม สีผิวคมเข้มดำสนิทไปทั้งตัว ที่จะพาเราเข้าสู่เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์นี้ต่อไป จากนั้นประตูห้องเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 7 เปิดรอให้ผู้เข้าชม เข้าร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งของเหมืองแม่เมาะ ชมวิดีทัศน์พระผู้เป็นที่รักและรัฐธรรมนูญไทย ความยาวประมาณ 5 นาที ผนังรอบด้านแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และที่ดูเหมือนจะเป็น "ไฮไลต์" ของห้องนี้คือ ผนังกระจกใสที่เบื้องหน้ามองเห็นโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินที่มีทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง พร้อมผนังส่วนหนึ่งที่แสดงพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยาพลเทพ เรื่องให้สงวนแหล่งถ่านหินให้ราชการดำเนินการเอง

ส่วนที่ 2 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับธรณีวิทยาทั้งหมด ห้องแรกเป็นห้องถ่านน้อยที่จะเริ่มเตรียมความรู้เบื้องต้นให้แก่ผู้ชมเกี่ยวกับธรณีวิทยา การกำเนิดโลก วิวัฒนาการของโลกจากบรมยุค สู่มหายุค ยุค และสมัย ตามลำดับ และวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต โดยฉายภาพยนต์ 3 มิติ ความยาวประมาณ 12 นาที บรรยากาศภายในห้องเหมือนกับเราอยู่ในโลกยุคโบราณ มีเสียงภูเขาไฟระเบิด ธารลาวาที่ไหลมาจากปล่องภูเขาไฟ ความสนุกสนานในโลกบรมยุคของบรรดาผู้ชมถูกดึงกลับสู่โลกแห่งความจริงเมื่อไฟในโรงสว่างขึ้น และผู้นำชมบอกว่าเชิญชมห้องถัดไปครับ!หลังจากชมภาพยนตร์แล้ว

ห้องถัดไปจัดแสดงสภาพนิเวศน์ ซากดึกดำบรรพ์ พืช และสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในมหายุคต่าง ๆ ที่เราได้ดูไปแล้วในภาพยนตร์ อาทิ มหายุคพาลีโอโซอิก มหายุคไทรโลโบท์ ที่เริ่มตั้งแต่ 570 ล้านปี สิ้นสุดเมื่อ 245 ล้านปีที่ผ่านมา จากนั้นมาเป็นมหายุคมีโซโซอิก มหายุคของไดโนเสาร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผู้ไม่มีความรู้ด้านธรณีวิทยาอาจจะมึนงงได้เล็กน้อย แต่ก็จะตื่นตาตื่นใจไปกับบรรยากาศที่เหมือนหลุดเข้าไปอยู่อีกโลก ห้องถัดไปจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับลำดับชั้นหินและถ่านแอ่งแม่เมาะ โครงสร้างธรณีวิทยาแอ่งแม่เมาะ มีตัวอย่างถ่านหินคุณภาพต่าง ๆ ให้ชม พร้อมวิดีทัศน์ให้ความรู้เกี่ยวกับชั้นหิน

ส่วนที่ 3 จัดแสดงเรื่องเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองแม่เมาะปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในห้องจัดแสดงมีวิดีทัศน์สาธิตกระบวนการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ แบบจำลองการทำเหมืองเปิดถ่านลิกไนต์ มีภาพ real time "ของจริง" แสดงการทำงานภายในเหมืองแม่เมาะด้วย ข่าวด้านลบต่าง ๆ เกี่ยวกับมลภาวะจากเหมืองแม่เมาะที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านในชุมชนรอบเหมือง ทำให้ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงพยายามพูดถึงการควบคุมมลพิษจากโรงไฟฟ้า สภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไป มีวัวจำลองตัวน้อยกำลังเล็มหญ้าด้วยหน้าตามีความสุข คุณภาพชีวิตชุมชนที่ดีบริเวณแม่เมาะนำเสนอผ่านวิดีทัศน์ที่มีคำสัมภาษณ์จากชาวบ้าน(ที่ถูกเลือกแล้ว?)

ร้านของของที่ระลึกบริเวณมุมด้านหน้า จัดไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบที่การจับจ่ายและการเก็บของไว้ "ระลึก" ถึงประสบการณ์ที่ได้รับ แต่การชมพิพิธภัณฑ์นี้ยังไม่จบแค่ในตัวอาคาร บริเวณด้านหลังอาคารภายนอกมีสะพานไม้ทอดยาวไปสู่จุดชมวิว บริเวณปลายสุดใกล้ตาเบื้องล่าง จัดแสดงรถขุดแร่ พานลำเลียง และเครื่องจักรขนาดใหญ่ต่าง ๆ ไว้ท่ามกลางสนามหญ้าเขียวขจี ส่วนเหมืองแม่เมาะขนาดยักษ์ที่โอบล้อมด้วยทิวไม้และหุบเขา มองเห็นอยู่เบี้องล่างไกลตาออกไปรอบการเข้าชมมี 4 รอบต่อวันพร้อมผู้นำชม รอบที่ 1 เวลา 9.00 น. รอบที่ 2 เวลา 10.30 น. หยุดพักเที่ยง รอบที่ 3 เวลา 13.00 น. และรอบที่ 4 เวลา 14.30 น.

ข้อมูลจาก:
1.การสำรวจภาคสนามวันที่ 14 กันยายน 2549
2.แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา(
เหมืองแม่เมาะ)3.http://maemohmine.egat.co.th/aboutus/index.html[access 20061212]

ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-018&word=%

013 ศูนย์บ้านปูนิทัศน์

ศูนย์บ้านปูนิทัศน์
กิโลเมตรที่ 555 ถ.พหลโยธิน บ้านวังยาว ตำบลแม่กัวะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง 52170
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมวิทยากร
0-5422-8346
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี
เนื้อหาการจัดแสดง: ธรรมชาติวิทยา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 13.979000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 100.613998

ปัจจุบันมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์ธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ของตนเองควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่อบุคคลทั่วไปในรูปแบบของศูนย์เผยแพร่ข้อมูล หรือพิพิธภัณฑ์ สำหรับศูนย์บ้านปูนิทัศน์ จังหวัดลำปาง เป็นตัวอย่างหนึ่งของลักษณะการดำเนินงานดังกล่าว ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยงานเหมืองลำปาง ของบริษัทบ้านปู จำกัด ริมทางหลวงสายลำปาง-เชียงใหม่ อำเภอสบปราบ

วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลและแสดงแนวคิดทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทบ้านปู จำกัด โดยต้องการให้เป็นแหล่งความรู้เบื้องต้นทางธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และระบบคุณภาพต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน บริษัทบ้านปู จำกัด ศูนย์บ้านปูนิทัศน์

มีพื้นที่จัดนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกเป็นมุมประวัติความเป็นมาและแนวคิดธุรกิจของกลุ่ม บริษัทบ้านปู จำกัด เริ่มตั้งแต่ยุคแรกเริ่มการทำธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในปี 2526 จนปัจจุบันที่ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจไฟฟ้าด้วยและมีดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งในประเทศ และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนนำเสนอวิสัยทัศน์ และพันธกิจของบริษัท พร้อมกับถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับ

ส่วนที่สอง เป็นมุมความรู้เกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหิน นำเสนอภาพและขั้นตอนในการผลิตถ่านหิน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลการสำรวจและแปลความหมายทางธรณีวิทยา ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตถ่านหินจนสำเร็จรูป และการส่งมอบให้ลูกค้า และมีการจัดแสดงโมเดลขนาดเล็กของรถขุด รถจักรต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจการเหมือง

ส่วนที่สาม จัดแสดงเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยรวบรวมภาพกิจกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานต่าง ๆ ที่บริษัทได้นำมาใช้ในทุกหน่วยงานผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบที่ได้รับการับรองแล้วอาทิ การบริหารคุณภาพ(ISO 9002) การบริหารด้านสิ่งแวดล้อม(ISO 14001) การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย(TIS 18000)

ส่วนที่สี่ จัดแสดงข้อมูลและตัวอย่างซากบรรพชีวิน(fossil) ที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวโยงถึงเรื่องธรณีวิทยา และขั้นตอนการกำเนิดถ่านหินที่พบจากแหล่งถ่านหินต่าง ๆ ของบริษัท คือ แหล่งบ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แหล่งแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และแหล่งเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซากบรรพชีวินที่จัดแสดง อาทิ กระดูกเชิงกรานและกระดูกโคนหางของ "สยามไมโทรันนัส อีสานเอนซีส" กระดูกต้นขาและกระดูกสันหลังของ "ภูเวียงโกซอรัส สอรินธรเน"

และยังมีตัวอย่างถ่านหิน และแร่ดินบอลเคลย์จากเหมืองลำปาง อำเภอแม่ทะ ถ่านหินจากเหมืองเชียงม่วนและเหมืองลำพูน และการจัดแสดงที่เป็นเรื่องทั่วไปและอาจจะดึงความสนใจของผู้ชมทั่วไปได้บ้างคือ นิทรรศการไดโนเสาร์ไทย ที่นำเสนอภาพเขียนและรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีการขุดค้นพบซากในประเทศไทย

ส่วนที่ห้า เป็นห้องแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน อาทิ เครื่องจักสาน ผ้าปูโต๊ะ เสื้อทอพื้นเมือง ผ้าทอฝ้ายทอมือฝีมือชาวปกากะญอ ที่อยู่ในชุมชนที่เป็นพื้นที่ตั้งเหมืองและบริเวณใกล้เคียง โดยร่วมอยู่ในโครงการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนที่บริษัทดำเนินการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและฝึกอาชีพให้ชุมชนพัฒนาทักษะการประดิษฐืหัตถกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงฝึกอาชีพอื่น ๆ เช่น ตัดผม ซ่อมเครื่องยนต์ การปลูกผักและไม้ผล เพื่อหารายได้เพิ่มเติมหรือเป็นอาชีพรองรับให้กับคนในชุมชนหลังจากที่เหมืองสิ้นสุดการทำงานและปิดตัวลง โดยบริษัทได้นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาจัดแสดงและจำหน่ายให้ศูนย์บ้านปูนิทัศน์ เพื่อเผยแพร่กิจกรรมและเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ข้อมูลจาก:
1.การสำรวจภาคสนาม วันที่ 18 กันยายน 2549
2.แผ่นพับประชาสัมพันธ์ศูนย์บ้านปูนิทัศน์
ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-021&word=%

012 ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว(บ้านจ้างหลวง)

ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว(บ้านจ้างหลวง)
33 หมู่ 9 บ้านข่อย ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง 52110
เปิดทุกวัน
0-5422-0380
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.888000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.938004


ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว หรือ บ้านจ้างหลวง (ช้างหลวง) ตั้งอยู่บริเวณถ้ำโจร ในอำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งก่อตั้งโดยครูคำอ้าย เดชดวงตา โดยได้รวบรวมงานไม้แกะสลักซึ่งเป็นผลงานของผู้ก่อตั้ง เรือนเก็บงานแกะสลักเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ดูคล้ายช้าง แทบทุกส่วนของอาคารออกแบบตกแต่งด้วยศิลปะที่กลมกลืน และเคยใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานไม้แกะสลักของครูคำอ้าย

แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ถูกไฟไหม้ไป ทำให้ผลงานถูกไหม้ไฟไปประมาณ 50-60 ชิ้น ครูคำอ้ายได้ตั้งใจที่จะใช้ที่นี่เป็นโรงเรียนฝึกอบรมและสอนงานศิลปะ โดยเฉพาะงานประติมากรรมไม้แกะสลัก เพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น โดยศูนย์ได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถาบันจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้สนใจติดต่อเข้าที่ชมศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงามสามารถสอบถามรายละเอียดได้โทร. 054-220380, 054-36–5229

นอกจากนั้นแล้ว ภายใจถ้ำโจรยังเป็นถ้ำที่งดงามด้วยม่านหินย้อยในแต่ละโถงถ้ำเล่ากันว่าอดีตเคยเป็น ที่อาศัยของโจรมาก่อน ภายในถ้ำได้พบภาพเขียนประวัติศาสตร์บ้านห้วยหก เป็นภาพเขียนสีแดงของกลุ่มคนเดินเรียงแถว มีอายุประมาณ 2,000-3,000 ปี เป็นยุคสังคมเร่ร่อน ซึ่งลักษณะของภาพเขียนดังกล่าวไม่ ค่อยได้พบเห็นมากนักในประเทศไทย

ข้อมูลจาก
1. http://www.lampang.go.th/map_lampang/A-yowe.htm[accessed 20070213]
2. http://www.ptttravelwow.pttplc.com/travel_information/travel_info_plan_detail.php?id=4152[accessed 20070213]

ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-020&word=%

011 บ้านเสานัก

บ้านเสานัก
ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดทุกวัน 10.00-17.00 น.
0-5422-7653, 0-5422-4636
ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
บริหารจัดการโดย เอกชน
ก่อตั้งปี 2535
เนื้อหาการจัดแสดง: งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.097000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.339996


บ้านเสานัก เป็นชื่อภาษาเมืองหมายถึงบ้านที่มีเสาจำนวนมาก บ้านเสานักเป็นบ้านที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมากหลังหนึ่งในจังหวัดลำปาง ก่อสร้างในปีพ.ศ.2428 โดยหม่องจันโอง จันทรวิโรจน์ ชาวพม่าที่มาตั้งรกรากในลำปางในห้วงที่ลำปางเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทำไม้สักที่เฟื่องฟูมากในภาคเหนือ สถาปัตยกรรมของบ้านผสมผสานทั้งแบบพม่าและพื้นเมืองล้านนา โดยแบบระเบียงบ้านได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบพม่า

ในขณะที่หลังคาและโครงสร้างโดยทั่วไปเป็นแบบล้านนา บ้านเสานักมีเรือนนอนสองหลังเชื่อมต่อกันด้วยหลังคา โดยส่วนพักอาศัยทอดยาวตลอดด้านหน้าของตัวบ้าน ชื่อบ้านเสานักตั้งโดยม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เนื่องจากมีเสาไม้สักถึง 116 ต้น เนื้อที่ของบ้านตกราว 3 ไร่ ประกอบด้วยเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนหมู่ โรงรถ และยุ้งข้าว มีบ่อน้ำหน้าบ้าน 2 บ่อ หลังบ้าน 1 บ่อ ไม้ยืนต้นอายุมากกว่าตัวบ้านคือ ต้นสารภีหลวง ซึ่งยืนตระหง่านอยู่ตรงทางเข้าในปี 2507

เมื่อบ้านตกอยู่ในครอบครองของคุณหญิงวลัย ลีลานุช หลานตาของผู้สร้าง โครงสร้างบ้านเริ่มเสื่อมลงไปตามกาลเวลา จึงมีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ภายใต้การควบคุมของคุณทวีศักดิ์ จันทรวิโรจน์ น้องชายของคุณหญิงวลัย ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง การซ่อมแซมใช้เวลากว่า 10 ปี พื้นดินถูกยกขึ้นจากเดิมเพื่อป้องกันน้ำท่วม เสาบางต้นมีการโบกปูนทับแล้วใช้ไม้อัดประกบ เพราะไม้สักแม้จะทนทานแต่ย่อมผุพังตามกาลเวลา พื้นไม้ของชานบ้านเปลี่ยนเป็นปูกระเบื้องแทน และมีการปิดร่องไม้สักด้วยสังกะสี

ปี 2530 คุณหญิงวลัย ตัดสินใจรื้อยุ้งฉางเก่าในบริเวณบ้านแล้วนำยุ้งฉางใหม่ที่อายุใกล้เคียงกับของเดิมมาแทนที่ ซึ่งยุ้งฉางใหม่มีเสากว่า 24 ต้น เพื่อความสมบูรณ์ของการสร้างยุ้งฉาง ได้มีการประกอบพิธีกรรมพื้นบ้านฮ้องขวัญกู่ข้าวเพื่อเชิญให้ขวัญซึ่งอาจจะหนีหายไประหว่างการก่อสร้างกลับคืนมาหลังจากนั้นในปี 2535 คุณหญิงวลัย ก็ถึงแก่อนิจกรรม บ้านเสานักจึงไม่มีผู้อยู่อาศัยอีก ทายาทคนต่อมาคือ คุณฌาดา ชิวารักษ์ (ภรรยาของลูกชายคนเดียวของคุณหญิงวลัย- ร.ต.อ.วันจักร ไวยวุฒิ) เป็นผู้ดูแลบ้านคนปัจจุบัน และเปิดบ้านเสานักให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและรับจัดสัมมนา งานเลี้ยงแบบพื้นเมืองภายในบ้านเสานักจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ เช่น แหย่งช้าง(ที่นั่งบนหลังช้าง)ของเจ้าหลวงลำปาง หีบโบราณ เครื่องอัดกลีบผ้าม่วง กำปั่นเหล็ก เครื่องเขิน เครื่องเงิน แอ๊บหรือหมากเงินศิลปะล้านนา ศิลปะเขมร ซองพลู จัดไว้ในตู้โชว์ มีหนังสือบรรยายประกอบการชม ที่ผนังติดภาพเจ้าดารารัศมี และภาพของเจ้าของบ้านรุ่นแรก

ข้อมูลจาก:
1. Ping Amranand and William Warren. Heritage Homes of Thailand. Bangkok: The Siam Society, 1996,pp118-121.
2. เอื้อมพันธุ์ , ปวัตร สุวรรณเกต. "ภาคภูมิ งามสง่า บ้านเสานัก." กรุงเทพธุรกิจ. วันที่ 7 มกราคม 2548, 8-9

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-010&word=%

010 บ้านป่องนัก

บ้านป่องนัก
ภายในมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52000
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
0-5422-5941-3 ต่อ 3318
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย หน่วยงานราชการ
ก่อตั้งปี เนื้อหาการจัดแสดง: งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม,บุคคลสำคัญ


“บ้านป่องนัก” เป็นภาษาคำเมืองที่คนภาคเหนือเรียกกัน ซึ่งคำว่า “ป่อง” นั้นหมายถึงหน้าต่าง คำว่า “นัก” หมายถึง มาก ฉะนั้น “บ้านป่องนัก” จึงหมายถึง บ้านที่มีหน้าต่างจำนวนมาก บ้านป่องนักได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยกรม ยุทธการทหารบก และควบคุมการก่อสร้างโดยพันโทพระมหาณรงค์เรืองเดช ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปกว่า 16,000 บาท

ในการสร้างบ้านบ้านป่องนักขึ้นมานั้น เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2469 และต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ก็ได้จัดให้เป็นพลับพลาที่ประทับอีกครั้ง ครั้นเมื่อเสด็จกลับได้จึงได้มีการปรับเป็นกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 7 จนถึง พ.ศ.2513

ปัจจุบันนี้ “บ้านป่องนัก” ก็ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่ทหารของค่ายสุรศักดิ์มนตรี โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม ซึ่งเมื่อมองจากด้านนอกของตัวบ้าน จะเห็นว่าตัวบ้านสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปผสมไทย มีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข

ส่วนสิ่งสำคัญที่โดดเด่นสะดุดตามากก็คือ หน้าต่างของบ้านทั้งด้านบนและด้านล่างของบ้าน ที่มีลักษณะเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้านไปหมด ซึ่งมีจำนวนมากถึง 250 บาน และมีช่องหน้าต่างกว่า 469 ช่อง ภายในตัวบ้าน ได้จัดแสดงห้องต่างๆไว้มากมาย โดยแต่ละห้องจะมีการจัดข้าวของจัดแสดงไว้ ห้องด้านล่างเป็นที่เป็นรวบรวมปืน และหมวกของทหาร ส่วนอีกห้องจัดแสดงเรื่องราวประวัติของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ตัวบ้านด้านบน จะมีบันไดแบบเวียนเวียนขึ้น – ลง จำนวน 2 บันได นำขึ้นไปสู่ตัวบ้านด้านบน ที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ ห้องเช่นกัน มีทั้งห้องที่จัดแสดงเครื่องใช้อย่างพวก ถ้วย ชามสมัยโบราณ เครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคเก่า เตียงนอนทหาร รวมไปถึงยังมีห้องจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเขียนสีประตูผาที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจของจังหวัดลำปาง

อีกทั้งยังมีภาพถ่ายโบราณ (ภาพขาวดำ) ที่จัดแสดงไว้มากมาย ให้ได้เดินชมและศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปางปัจจุบันบ้าน ป่องนัก ตั้งอยู่ภายในมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าไปเที่ยวชมบ้านป่องนักสามารถติดต่อไปได้ที่ กองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 32 โทร. 054-225941-3 ต่อ 3318

ข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000111323[accessed 20070213]

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-022&word=%

009 พิพิธภัณฑ์สถานภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา

พิพิธภัณฑ์สถานภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา
ร.ร.แจ้ห่มวิทยา 371 หมู่10 ถ.แจ้ห่ม-วังเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง 52120
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.00-16.00 น.
0-5427-1399, 0-5427-1397, 0-1030-9157
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย สถานศึกษา
ก่อตั้งปี 2542เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา


พิพิธภัณฑสถานภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยความร่วมมือของคณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ สมาคมผู้ปกครอง-ครูโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ผู้ปกครองนักเรียน ชาวบ้านในอำเภอแจ้ห่ม และหน่วยงานในท้องถิ่นอำเภอแจ้ห่ม ร่วมกันบริจาคสิ่งของเครื่องใช้พื้นถิ่น

จากนั้นในปี พ.ศ.2543 โรงเรียนแจ้ห่มได้ปรับสภาพอาคารเรียนเพื่อเป็นอาคารจัดแสดงใช้ชื่อว่า อาคารอดุลปัญญา เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาทางศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในอำเภอแจ้ห่ม ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 และมีการปรับปรุงการจัดแสดงโดยความร่วมมือของกรมศิลปากร ระหว่าง พ.ศ. 2544 - 2545

อาคารจัดแสดงเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 10 ส่วน เริ่มจากบทนำ ที่แนะนำการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์, เกียรติประวัติเจ้าพ่อพญาคำลือ, ข้อมูลอำเภอแจ้ห่ม, วัดและโบราณสถาน, ประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อ, ดนตรีพื้นบ้าน, ผ้าและการแต่งกาย, การละเล่นพื้นบ้าน, เรือนอาศัย และอาชีพและการทำมาหากิน

มีคำบรรยายประกอบการจัดแสดง และมีวิทยากรนำชมโดยนักเรียนที่เป็นคณะทำงานของพิพิธภัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา เป็นโครงการจัดแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ขยายผลไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และเป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนในวิชาท้องถิ่นศึกษา สังกัดกลุ่มสหวิทยาเขตพญาวัง ที่ประกอบด้วยโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเขตจังหวัดลำปาง จำนวน 32 โรงเรียน โดยโรงเรียนต่าง ๆ จะหมุนเวียนเดินทางมาใช้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อเรียนเกี่ยวกับเรื่องราวท้องถิ่นจากสิ่งประดิษฐ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น

โรงเรียนแจ้ห่มวิทยามีโครงการจัดทำสิ่งพิมพ์แผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑ์ โดยนักเรียนเป็นผู้เขียนและจัดทำ และยังมีโครงการให้หน่วยงานอื่นยืมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ไปจัดแสดง ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปางเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับอนุเคราะห์ให้ยืมวัตถุจัดแสดงของโรงเรียนไปจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม

และในอนาคตอันใกล้นี้มีโครงการขุดค้นเมืองโบราณแจ้ห่ม ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ถือเป็นโครงการใหญ่และสำคัญของพิพิธภัณฑ์นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การแสดงดนตรีพื้นเมือง "วงสะล้อซอซึง" ประกอบการฟ้อนรำ จ๊อยซอ การตีกลองสะบัดชัย กลองปูจา ฟ้อนดาบ การสืบค้นข้อมูลของนักเรียนในรายวิชา "วิถีไทย - ภูมิปัญญาไทย" ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 การประดิษฐ์เกวียนไม้จำลองจากไม้สักแกะสลักลาย เป็นงานฝีมือของนักเรียน โดยงบประมาณในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งได้มาได้การจำหน่ายงานหัตถกรรมของนักเรียนที่นำมาฝากขายที่พิพิธภัณฑ์

ข้อมูลจาก:
1. การประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง
2. แบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และแผ่นพับประชาสัมพันธ์โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา3. กรมศิลปากร. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ (เล่ม 2). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2546.

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-014&word=%

008 พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุจอมปิง

พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุจอมปิง
วัดพระธาตุจอมปิง หมู่ 5 ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
เปิดทุกวัน 08.30-18.00 น.
0-5436-2893
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี 2544
เนื้อหาการจัดแสดง: ประวัติศาสตร์/โบราณคดี,วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.097000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.339996

วัดพระธาตุจอมปิงเป็นวัดเก่าแก่ของลำปาง มีตำนานว่าสร้างขึ้นโดยพระนางเจ้าจามเทวี วัดเคยร้างไปช่วงหนึ่ง ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ท่านนันทปัญญา พี่เลี้ยงของพระเจ้าติโลกราช ได้มาบูรณะวัดแห่งนี้ ในพ.ศ. 2000 เกิดศึกพระยาใต้ยกทัพมาประชิดเมืองลำปาง เจ้าหมื่นด้งนครและพระเจ้าติโลกราชยกทัพมาช่วย สถานที่รบเรียกว่า "มหาสนุก" และได้ฉลองชัยชนะที่วัดนี้ มีการตั้งชื่อวัดว่า "วัดจอมพิงค์ชัยมงคล" ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นวัดจอมปิงในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2518 เจ้าหน้าที่ ร.พ.ช. เข้ามาขุดดินบริเวณหลังวัดเจอโครงกระดูก และโบราณวัตถุหลายชนิด อาทิ กำไล ปลอกแขน ตะขอสำริด(ชิ้นส่วนประกอบเสลี่ยงหรือคานหาม) ตลอดจนลูกปัดหินและแก้ว นอกจากนั้นยังมีการพบโบราณวัตถุอีกบ้างในระหว่างการขุดสร้างบ้านเรือนบริเวณรอบวัด ในปี 2531 ระหว่างการวางท่อประปาในหมู่บ้านก็ขุดพบโบราณวัตถุอีก

ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงเข้ามาตรวจดู พบว่าโบราณวัตถุจำพวก กำไลแก้ว ลูกปัดแก้ว และหินที่พบคล้ายกับแหล่งโบราณคดีที่ตาก กำแพงเพชร ลำพูน และนครสวรรค์ แสดงถึงความสัมพันธ์กันของแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ นอกจากนี้โบราณวัตถุหลายชนิดทำจากสำริด ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง ของที่ขุดพบส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่วิหารของวัด ต่อมาเจ้าอาวาสพระธาตุจอมปิง พระอธิการอดุล ทนตจิตโจ ร่วมกับชาวบ้านได้ก่อสร้างอาคารเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบดังกล่าว เปิดให้ประชาชนเข้าขมอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ พ.ศ.2544

อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในห้องโถง กลางห้องตั้งตู้จัดแสดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6x2 เมตร ปิดกระจกโดยรอบ 1 ตู้ ภายในตู้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบบริเวณวัด อาทิ เศษภาชนะดินเผา กำไลหิน กำไลสำริด ใบหอก ลูกปัด ต่างหู นอกจากนี้จัดมีของสะสมของวัด ได้แก่ พระพุทธรูป กล้องสูบยาดินเผา ที่ใส่ดินปืนทำจากเขาสัตว์ ผ้ายันต์ ตะกรุด เชี่ยนหมาก โดยจัดวางเรียงเป็นกลุ่มพร้อมป้ายคำบรรยายวัตถุภาษาไทยบางรายการ ด้านบนของตู้ติดตั้งหลอดไฟลูออเรสเซนส์สีต่างๆ เพื่อให้แสงสว่างแก่โบราณวัตถุศิลปวัตถุที่จัดแสดง ด้านข้างตู้จัดแสดงใหญ่ ยังมีตู้เก็บคัมภีร์ใบลานอีกหนึ่งตู้ และมีแท่นประดิษฐานรูปปั้นของหลวงพ่อแก้ว จิรธมโม(ไชยราช) อดีตเจ้าอาวาส พร้อมป้ายประวัติชีวิตของหลวงพ่อแก้วที่เขียนด้วยลายมือบนฝาผนังด้านหลัง

ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548
2. กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546. หน้า 94.

ที่มา :
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-011&word=%

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

007 พิพิธภัณฑ์วัดพระเจ้าทันใจ

พิพิธภัณฑ์วัดพระเจ้าทันใจ
วัดพระเจ้าทันใจ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดทุกวัน
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี -

เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา

วัดพระเจ้าทันใจ มีอาคารเก่าที่ถูกย้ายมาอนุรักษ์ไว้สองหลัง หลังหนึ่งคือ "หอธรรม" เป็นเรือนเครื่องไม้สองชั้น หลังคาเป็นยอดปราสาท มีประวัติว่าเดิมอยู่ที่วัดศรีบุญโยง ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง โดยครูบาปินดา เจ้าอาวาสวัดศรีบุญโยง กับเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้านครลำปาง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2451 ภายหลังทรุดโทรมจึงรื้อลงในปีพ.ศ. 2535 ทางวัดพระเจ้าทันใจจึงขอผาติกรรมมาแล้วจัดการซ่อมแซมสร้างขึ้นใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ. 2540

อีกหลังหนึ่งคือ "พิพิธภัณฑ์สินานนท์" มีประวัติความเป็นมาตามที่เล่าไว้ในป้ายว่าเดิมเป็นตุ๊ข้าว(ยุ้งข้าว) ของหลวงกำจรวานิช(กิมเฉียน สินานนท์) และคุณนายบุญชู คหบดีในเมืองลำปาง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ร้อยปีให้หลังทายาทได้รื้อมาถวายวัด ทางวัดพระเจ้าทันใจจึงนำมาปลูกใหม่ โดยใส่หน้าต่างขยายประตูและหล่อตอหม้อรับเสา ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิตชาวนา มีเครื่องมือทำนาแขวนประดับเต็มฝาด้านนอกทุกด้าน ส่วนภายในมีตั้งแต่อุปกรณ์ทอผ้า ทำนา หั่นยาสูบ ตีเหล็ก เครื่องครัว จักรเย็บผ้า พิมพ์ดีด เครื่องดนตรี เครื่องจักสาน ไปจนถึงกระดูกช้าง อาจเพราะตัวยุ้งข้าวมีขนาดเล็กมาแต่เดิม ประกอบกับข้าวของภายในมีมาก ผู้ชมสามารถขึ้นไปได้เพียงคราวละไม่มากคนอย่างไรก็ดี ความแออัดในยุ้งข้าวนี้ คงกำลังจะได้รับการปรับปรุงในเร็ววันนี้ เพราะปัจจุบันทางวัดพระเจ้าทันใจกำลังก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่เป็นตึกทรงไทยประยุกต์ใหญ่โตอยู่ทางด้านหลังหอธรรม

ข้อมูลจาก:
ศรันย์ ทองปาน. พิพิธภัณฑ์วัดพระเจ้าทันใจ.วารสารเมืองโบราณ [Online] Available: http://www.muangboranjournal.com

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-003&word=%

006 พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จ

พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จ
วัดพระธาตุเสด็จ เลขที่ 638 หมู่ 5 ถ.สายลำปาง-งาว ต.เสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัดและชุมชน
ก่อตั้งปี -
เนื้อหาการจัดแสดง: วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.389999พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.594002

วัดพระธาตุเสด็จ เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานพระธาตุนครลำปางเล่าว่า วัดในจังหวัดลำปางที่เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ 2 วัด คือ วัดพระธาตุลำปางหลวงและวัดพระธาตุเสด็จ

แผนผังการสร้างวัดมีลักษณะเป็นภูมิจักรวาล มีพระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัด และมีวิหาร ศาลา กำแพงแก้ว เป็นสถาปัตยกรรมบริวาร ลานเดินในวัดที่เดิมเกลี่ยลงด้วยทรายอุปมาเป็นมหาสมุทรสีทันดร เพื่อให้ผู้คนเดินเท้าได้ช้าลง หากแต่ปัจจุบันทางวัดได้เทคอนกรีตทับพื้นลานดินจนหมดแล้ว

โบราณสถานที่สำคัญในวัดนอกจากพระเจดีย์พระธาตุเสด็จที่สร้างราวปี พ.ศ. 1992 แล้ว ยังมีวิหารโคมคำ หรือวิหารพระพุทธ เป็น 1 ใน 10 ของวิหารเครื่องไม้ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในภาคเหนือทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ที่สร้างระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-24 วิหารแห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ในปี พ.ศ. 2366 เดิมวิหารแห่งนี้เป็นวิหารเปิดโล่ง แต่เมื่อครั้งบูรณะในปี พ.ศ. 2500 ได้สร้างผนังปิดทึบแล้วเจาะช่องหน้าต่างเป็นช่องลูกกรงแต่ยังคงเค้าเดิมไว้ทุกประการ

ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน เสาภายในวิหารประดับด้วยลายเขียนทองงดงามพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จเป็นอาคารแถวชาวชั้นเดียว คล้าย ๆ กับ "พิพิธภัณฑ์วัด" ที่ข้าวของภายในมีจำนวนมาก วางเรียงรายและซ้อนทับกันอยู่เต็มไปหมด ไม่ได้มีเรื่องเล่า(theme) เหมือนกับพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ทำกัน คงมีแต่ป้ายคำอธิบายสั้น ๆ ในวัตถุบางชิ้นว่าเรียกว่าอะไร ใช้ทำอะไร อายุเท่าไหร่ ที่โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ลำปาง มาช่วยจัดทำให้

นอกเหนือจากพระพุทธรูปไม้ที่มีอยู่หลายสิบองค์ ของส่วนใหญ่เป็นของใช้ภายในวัด ของที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม ของใช้ในชีวิตประจำวัน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม อาทิ ฉัตรทองเหลืองยอดพระธาตุเสด็จ ฝีมือช่างล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 บาตรเหล็กขนาดใหญ่ของพระสงฆ์ สัตตภัณฑ์ หีบพระธรรมลายรดน้ำลงรักร่องชาด หีบพระธรรมลายรดน้ำประดับกระจก ตุงหรือธงปตาก ธรรมมาสน์ อุ๊กหรือคนโทน้ำสำหรับใส่น้ำถวายเจ้านาย ยาบย้อยหรือบ่างประดับหน้ามุข จองอ้อยสำหรับใส่ของถวายพระสงฆ์ รูปปูนปั้นยอดบัวตูมที่วางบนซุ้มเจดีย์เล็ก ฝาชีครอบขันโตก สานด้วยหวายลงชาดปิดทอง บอกคอกน้ำเต้าใช้ใส่ดื่มน้ำเวลาเดินทาง คนโทน้ำดินเผาเคลือบ หงส์ทำด้วยไม้และทองเหลือง เป็นต้น

ด้วยปัญหาความปลอดภัยในทรัพย์สินและขาดผู้ดูแลประจำ ทำให้ทางวัดจำเป็นต้องปิดพิพิธภัณฑ์เอาไว้ ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรจะนัดหมายติดต่อล่วงหน้าเพื่อความสะดวก

ข้อมูลจาก:
1.สำรวจภาคสนาม วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548

2.วัดพระธาตุเสด็จ. ประวัติ-ตำนาน พระบรมธาตุเสด็จ. พิมพ์เนื่องในงานกฐินสามัคคีปี 2546 , 2546.

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-002&word=%

005 ห้องแสดงศิลปวัตถุ วัดปงสนุก

วัดปงสนุก
ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ติดต่อประธานชุมชน
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัดและชุมชน
ก่อตั้งปี เนื้อหาการจัดแสดง: วัดพิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.295000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.497002


วัดปงสนุกเหนือเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างร่วมสมัย พระเจ้าอนันตยศเสร็จมาทรงสร้างเมืองเขลางค์นคร เมื่อ พ.ศ. 1223 วัดปงสนุก เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ตามหลักฐานในจารึกที่พบในที่ต่าง ๆ มีอยู่ 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว(พะเยา)

ชุมชนเดิมบริเวณวัดปงสนุกเป็นผู้คนที่อพยพมาจาก 2 ที่ด้วยกัน คือจากการกวาดต้อนครั้งที่ลำปางไปรบกับเมืองเชียงแสน ราว พ.ศ. 2364 และจากเมืองพะเยาเมื่อชาวเมืองคราวหนีศึกพม่า ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองเชียงแสนและเมืองพะเยา แม้เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใหม่ ก็ยังรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนเดิม จึงได้เอานามชื่อวัดและชื่อบ้านมาเรียก โดยชาวพะเยาก็เรียกวัดพะยาว(พะเยา) ชาวเชียงแสนก็เรียกวัดปงสนุก ซึ่งเป็นชื่อบ้านเดิมของตนในเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันวัดปงสนุก ใน อ.เชียงแสน ก็ยังมีอยู่

ปัจจุบันวัดปงสนุก แยกเป็น 2 วัด ทั้งที่อาณาเขตก็ไม่กว้างขวางเท่าใด คือ วัดปงสนุกเหนือ และวัดปงสนุกใต้ สาเหตุที่แยกเนื่องมาจากพระสงฆ์ สามเณร ในอดีต มีจำนวนมาก จึงแบ่งกันช่วยดูแลรักษาวัด แต่ถึงอย่างไรทั้งสองวัดก็นับถือกันว่าเป็นวัดพี่วัดน้องอาศัยช่วยเหลือกันมาโดยตลอด

วัดปงสนุกในอดีตถือว่าเป็นวัดที่มีสำคัญและมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับเมืองลำปาง อาทิ เป็นสถานที่ดำน้ำชิงเมืองบริเวณหน้าวัดระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้วและเจ้าลิ้นก่าน ราวปี พ.ศ. 2302 และยังเป็นสถานที่ฝังเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง หลักแรก เมื่อ พ.ศ. 2400 สมัยเจ้าหลวงเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม เสาหลักเมืองดังกล่าว ถูกย้ายไปฝังไว้ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน

สิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากวัดทั่วๆ ไป ของวัดปงสนุก คือ ม่อนดอย เนินเขาพระสุเมรุจำลอง อันเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑปหลังคาซ้อนสามชั้น บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย สื่อความหมายถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ ลักษณะตัวอาคารผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน หลงเหลือเพียงอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ ประทับนั่งใต้โพธิพฤกษ์ทำด้วยตะกั่ว ด้านล่างของฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ นกอินทรี มีความเชื่อสืบกันมาว่า วิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

ด้วยความงดงามของวิหารแห่งนี้ทำให้กลายเป็นแรงบันดาลในการสร้างสถาปัตยกรรมในสมัยหลัง อาทิ หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และวิหารสี่ครูบา วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ราวปี 2548 ที่ผ่านมา ทางชุมชนปงสนุกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและโบราณคดี และนักวิชาการท้องถิ่น ได้หารือและร่วมกันก่อตั้งโครงการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ขึ้น หลังจากนั้นทางวัดและชุมชนจึงตื่นตัวในการอนุรักษ์และรักษามรดกท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ห้องแสดงศิลปวัตถุ วัดปงสนุก ได้รับการจัดตั้งด้านข้างวิหารพระเจ้าพันองค์ เป็นศาลาชั้นเดียวขนานไปกับกำแพงบนม่อนดอย จัดแสดงโบราณวัตถุดั้งเดิมของวัดราว 4-5 ชิ้น ได้แก่ อาสนา สัตตภัณฑ์ ขันดอก แผงพระไม้ ติดกันเป็นห้องแสดงภาพถ่ายของวัดปงสนุก ฝีมือการถ่ายภาพโดยคุณแอนเจลา ศรีสมวงศ์วัฒนา แต่ปัจจุบันนิทรรศการดังกล่าวได้ถูกเก็บออกไปแล้ว หากแต่ภาพถ่ายดังกล่าวได้นำมาจัดพิมพ์เป็นชุดโปสการ์ด ออกขายเมื่อหารายได้เข้ามาบูรณะวิหารของวัด

การเกิดขึ้นของโครงการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเข้ามาสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น นำมาซึ่งโครงการและกิจกรรมอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดปงสนุกเหนือและใต้ โครงการค้นคว้าศึกษาคัมภีร์ใบลาน และล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 คือ นิทรรศการภาพพระบฏ ตุงค่าว จาวเขลางค์ ที่จัดแสดงตุงค่าวอายุราว 100 ปี ที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญในหอไตรของวัดระหว่างการทำงานบูรณะวิหาร เป็นตุงที่ทำด้วยผ้าเนื้อละเอียดและบางส่วนเป็นตุงกระดาษสา จำนวนหลายสิบชิ้น แต่ละชิ้นเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดกด้วยลวดลายวิจิตรสวยงาม ในอดีตใช้ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติของวัด

ข้อมูลจาก :
1.สำรวจภาคสนาม วันที่ 5 พฤศจิกายน 2549

2.พระครูพุทธิธรรมโสภิต. ประวัติวัดปงสนุกเหนือ และ ประวัติ, บันทึกครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี. ลำปาง: วัดปงสนุก, 2549
3.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์. วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง. เมืองโบราณ 32: (เม.ย. - มิ.ย. 2549).
....................
หมายเหตุ : ข้อมูลยังต้องการการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวของวัดปงสนุกเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี2548

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-017&word=%

004 พิพิธภัณฑสถานเขลางค์นคร

วัดเจดีย์ซาวหลัง
เลขที่ 268 หมู่ 2 ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดทุกวัน 08.00-16.30 น.
0-5422-5209
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี 2536
เนื้อหาการจัดแสดง: วัด


วัดพระเจดีย์ซาวหลังเป็นวัดโบราณก่อนตำนานสมัยอาณาจักรเชียงใหม่ สมัยที่ล้านนาตกอยู่ในการปกครองของพม่า ได้ใช้วัดป่าเจดีย์ซึ่งก็คือวัดเจดีย์ซาวแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางศาสนาในนิกายอรัญวาสของพม่า

คำว่า "ซาว" เป็นภาษาพื้นเมือง แปลว่า ยี่สิบ เจดีย์ซาวจึงหมายถึง เจดีย์ยี่สิบองค์ เป็นศิลปะแบบพม่าผสมศิลปะล้านนา องค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง แวดล้อมด้วยเจดีย์อีกสิบเก้าองค์ด้านหลังของหมู่เจดีย์ และพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑสถานเขลางคนคร

พิพิธภัณฑ์เริ่มขึ้นจากการที่ท่านเจ้าอาวาส รวบรวมของเก่าแก่ที่เจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ เก็บไว้ แล้วนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์บนศาลาวัด โดยมีวัตถุเพียงไม่กี่ชิ้น ได้แก่ มีดดาบ ปืนคาบศิลา ด้ามพร้า และพระพุทธรูปเก่าๆ จากนั้นมีคนสนใจมาชมมากขึ้น จึงมีผู้บริจาควัตถุโบราณของเก่าแก่ที่ตนเองเก็บสะสมและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสองชั้น บันไดด้านหน้าที่ทอดยาวลงมา นำผู้มาเยือนขึ้นไปสู่ชั้นสอง มีครุฑไม้สักแกะสลักตัวใหญ่ ที่ได้มาจากศาลากลางหลังเก่าของเมืองลำปาง ยืนโดดเด่นเป็นสง่าหน้าประตูทางเข้า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย เช่น พระเครื่อง พระบุเงิน เงินตราและเหรียญประเภทต่างๆ ภาพถ่ายเก่า ๆ เช่น ภาพการสำรวจบริเวณวัดและพบฐานเจดีย์ ซึ่งถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. 2461 ขวานหิน ตลอดจนพระพุทธรูปต่างๆ ที่ได้จากเจดีย์วัดหมื่นครื้น ซึ่งหักพังลงมาในปี 2535

ชั้นล่าง เป็นที่เก็บรวบรวมเครื่องปั้นดินเผา ผางลาง โลหะรูประฆัง เครื่องใช้สอย เช่น ภาชนะ เครื่องประดับ ทุ่งเตาไหเป็นเตาเผาโบราณชนิดเคลือบน้ำยาสีดำและสีน้ำตาลเข้มศิลปะมอญ อายุประมาณ 700-1,000 ปี อาวุธโบราณ เช่น ดาบ หอก ขวานโลหะ เครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. เกราะทำจากกระดูกสัตว์ป่า ฝีมือชาวกะเหรี่ยง หีบเหล็ก ตะเกียงเจ้าพายุ เตาเส้า สำหรับสูบลมเผาตีเหล็ก กล้องยาสูบที่ทำจากดินเผา เป็นต้นวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานเขลางคนครแห่งนี้ มีป้ายชื่อ พร้อมคำอธิบาย และจัดทำเลขทะเบียนไว้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 24 กันยายน 2546
2. การประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-005&word=%

003 พิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
เปิดทุกวัน 09.00-17.00 น.
0-5421-8154
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี 2505?
เนื้อหาการจัดแสดง: วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.301001พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.510002

วัดพระแก้วดอนเต้า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนันตยศ ราชโอรสองค์ที่สองของพระนางจามเทวีผู้สร้างเมืองเขลางค์นครรุ่นแรก ราว พ.ศ. 1223 ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พ.ศ. 1979 พระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่ทรงจัดขบวนแห่เพื่อรับพระเจ้าแก้วมรกตจากเชียงรายไปเชียงใหม่ แต่ขบวนแห่มาถึงทางแยกที่จะไปนครลำปาง ช้างที่รับเสด็จพระเจ้าแก้วมรกตก็วิ่งตื่นไปทางเมืองนครลำปางไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ยอมไปทางเชียงใหม่ จนในที่สุดพระเจ้าสามฝั่งแกนจึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานไว้ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าเป็นเวลา 32 ปี ครั้นลุ พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปเชียงใหม่

เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโม ( ภาษาเหนือ เรียกว่า หมากเต้า ) แล้วนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ทุกปีจะมีงานเทศกาลประเพณีประจำปี นมัสการสรงน้ำพระบรมธาตุดอนเต้า พระแก้วมรกตดอนเต้า ณ วัดพระแก้วดอนเต้า ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ หรือวันเพ็ญเดือน 6 ใต้ เป็นประเพณีที่เจ้าผู้ครองนครลำปางตั้งขึ้นมาแต่ครั้งโบราณกาล

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งลานนา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม สร้างโดยพระมหาอุ่น สุมงฺคโล เมื่อปี พ.ศ. 2505 เป็นอาคาร 2 ชั้น กว้าง 8 เมตรเศษ ยาว 28 เมตรเศษ เป็นสถานที่รวบรวมศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุศิลปะลานนา ซึ่งวัดต่างๆ ในจังหวัดลำปางตลอดถึงสาธุชนทั่วไปได้มอบโบราณวัตถุต่างๆ ให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ลานนา เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ข้าวของในพิพิธภัณฑ์มีทั้งที่เป็นศาสนวัตถุ เช่น สัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียน พระพุทธรูป วิหารจำลอง ไม้แกะสลัก ข้าวของเครื่องใช้ เช่น กำปั่น หีบเหล็ก มีหลายขนาด

ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์มีศาลาอีก 1 หลัง จัดแสดงกลองขนาดใหญ่ ชิ้นส่วนไม้แกะสลักที่ถอดรื้อจากโบสถ์หลังเดิมนอกจากนี้ยังมีปูชนียสถานวัตถุที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ องค์พระบรมธาตุดอนเต้า วิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ วิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารพระเจ้าทองทิพย์ มณฑปหรือพระยาธาตุเป็นศิลปแบบพม่า พระแก้วมรกต วัดพระแก้วดอนเต้า อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ศาลเจ้าพ่อทิพย์ช้าง ศาลเจ้าแม่สุชาดาถวายแตงโมแด่พระมหาเถร วิหารลายคำสุชาดาราม พระเจดีย์เก่าของวัดล่ามช้าง

ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 24 กันยายน 2546
2. การประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-009&word=%

002 พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง



แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลไหล่หิน
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/brochure.php?get_id=34-012

วัดไหล่หินหลวง หมู่ 2 บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
เปิดทุกวัน 08.00-17.00 น.
โทรศัพท์ 0-9433-8284
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัดและชุมชน
ก่อตั้งปี ี2532
เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา,วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.216999พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.389999

วัดไหล่หิน หรือวัดเสลารัตนปัพพะตาราม (วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน) เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง วัดแห่งนี้นอกจากจะมีวิหารโบราณฝีมือช่างเมืองเชียงตุง และซุ้มโขงแบบล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของ "หอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สุวรรณกีฏะศรัทธาสามัคคี" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชาวบ้านไหล่หินร่วมกันสร้างขึ้น และได้บริจาควัตถุโบราณต่าง ๆ ไว้เป็นสมบัติของวัดเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า

ปัจจุบันจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม เครื่องใช้ของชาวบ้าน เครื่องรางของขลัง คัมภีร์โบราณ เครื่องดนตรี และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ฯลฯ โบราณวัตถุเหล่านี้นอกจากเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นกิจกรรมของชุมชนแห่งนี้ในอดีตแล้ว ยังสะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีต่อพุทธศาสนา รวมถึงความสามารถในเชิงช่างที่สร้างสรรค์ความงามในรูปแบบของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับการใช้สอย

พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย ของที่เด่นและสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ คัมภีร์ใบลานที่จารเป็นอักษรล้านนาที่มีอายุมากกว่า 500 ปี เครื่องใช้ในพิธีกรรม หรือเครื่องสักการะที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา สิ่งของเหล่านี้นอกจากจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว บางส่วนเก็บรักษาไว้ในโรงธรรม ศาลาการเปรียญ และวิหาร อาทิ จองคำ ค้างเทียน วิหารน้อย ฉางข้าวน้อย เสลี่ยงกง(คานหามที่มีพนักโค้งเหมือนกงเรือ) เครื่องไม้จำหลัก อาสนะที่ใช้วางเครื่องอัฐบริขาร พระพุทธรูปโบราณ พระพิมพ์ดินเผา วิหารไม้พระอุปคุต มณฑปพระเจ้าแก้ว หีบพระธรรม

ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ที่จัดแสดงอาทิ เครื่องใช้ในครัวเรือน สิ่งของที่ชาวบ้านในอดีตใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเขิน เครื่องประดับ เครื่องจักสาน เครื่องดนตรี มีทั้งประเภท ฆ้อง ฉาบ และกลองที่ชาวบ้านเรียกว่า กลองแอว กลองอุ๊ย กลองตะหลดป๊ด เครื่องรางของขลัง ได้แก่ ผ้ายันต์ที่ใช้พันศีรษะ เสื้อ ผ้าคาดเอว ลงอักขระเลขยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันคุ้มครองผู้สวมใส่ให้พ้นภัยต่างๆ มีตะกรุด ลูกประคำ พระเครื่อง นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เป็นชิ้นส่วนอาคารสิ่งก่อสร้างที่วัดเคยมีการรื้อถอนหรือซ่อมแซม บางชิ้นมีลวดลายแกะสลักที่สวยงาม

เอกลักษณ์หนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ตู้ไม้ที่ใช้จัดแสดงสิ่งของนั้น เคยเป็นที่เก็บหีบศพของชาวบ้านมาก่อน โดยชาวบ้านมีความคิดว่า ถ้าทำที่เก็บหีบศพในลักษณะเป็นตู้ เมื่อประกอบพิธีทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว ทางวัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ในภาคเหนือมักนิยมทำเป็นปราสาทกัน

ในปี 2548 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดไหล่หินหลวง และโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกันพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สถานที่ที่จะบอกเล่าวิถีชีวิตคนไหล่หิน แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ใหญ่ และเยาวชน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ร่วมกันทำ อาทิ การทัศนศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การทำทะเบียนวัตถุ การเก็บข้อมูลและสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติข้าวของในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการภาพถ่ายไหล่หินในอดีต

ดู คลิปวิดีโอ ประวัติความเป็นมาพิพิธภัณฑ์ ได้ที่
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/clip.php?get_id=34-012

ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 24 กันยายน 2546 และวันที่ 13 สิงหาคม 2547
2. ชุติมา เวทการ. เอกสารแนะนำ "พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง"
3. โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
4. ข่าวสารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดไหล่หินหลวง ฉบับที่
1/2548 , 2/2548 , 3/2548 , 4/2548
ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-012&word=%

นอกจากนั้นยังมีบทความที่กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์นี้อีกคือ

พิพิธภัณฑ์วัดเสลาบัพพาตาราม(วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน)
ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา ลำปาง
เรื่อง: ศรัณย์ ทองปาน

วัดไหล่หินเป็นวัดเล็กๆ ในอำเภอเกาะคา อยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุลำปางหลวงนัก มีตำนานเล่ากันว่าเป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยพระนางจามเทวี สร้างขึ้นก่อนการสถาปนาวัดพระธาตุลำปางหลวง ด้วยเหตุนั้น จึงมีแผนผังคล้ายคลึงกัน เพียงแต่มีสัดส่วนย่อมกว่า นอกจากนั้น ภูมิสถานที่ตั้ง ก็ยังเป็นเนินใหญ่คล้ายกับวัดพระธาตุลำปางหลวง และเป็นที่มาของชื่อ ไหล่หิน (ไหล่/หล่าย คือเนิน) ด้วย

น่ายินดีที่ทางวัดไหล่หินได้รักษาโบราณวัตถุสถานต่างๆ ไว้ได้อย่างดี ปูชนียสถานสำคัญในเขตพุทธาวาสได้แก่ วิหารไม้และองค์พระธาตุ ซึ่งล้อมรอบด้วยศาลาบาตร ทางด้านหน้ามีซุ้มประตูโขง ส่วนในเขตสังฆาวาสก็ยังมีโรงธรรม โครงสร้างไม้ ผนังก่ออิฐถือปูน เป็นที่เก็บรักษาหีบพระธรรม และคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก คัมภีร์บางฉบับที่พบในวัดไหล่หิน มีอายุถึงกว่าห้าร้อยปี

ตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ทางวัดไหล่หิน ริเริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ไว้ ในชั้นต้นนำไปวางแสดงในกุฏิหลังเก่า ต่อมาจึงได้สร้าง “หอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สุวัณณะกีฏะศรัทธาสามัคคี” ขึ้น แยกเป็นเอกเทศออกมา ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๒

ภายใน ตรงกลางห้องประดิษฐานพระพุทธรูปบุเงิน บุทอง ขนาดเล็กๆ จำนวนมากไว้ในตู้ มีลูกกรงเหล็กล้อมรอบไว้อย่างมั่นคงถึงสองชั้น ของอื่นๆ ที่นำมาเก็บไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ ก็มีอาทิเครื่องถ้วย เครื่องเขิน เงินตราโบราณ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี หากแต่ที่โดดเด่นก็คือบรรดาเครื่องไม้จำหลักทางศาสนา นอกจากนั้นก็ยังเครื่องรางของขลัง ผ้ายันตร์และตะกรุดแบบต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นคติความเชื่อในท้องถิ่นที่ยังมิได้มีการศึกษาค้นคว้ากันนัก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือได้ว่ามีกำเนิดมาจากหมู่คณะศรัทธาของชาวบ้านร่วมกับพระสงฆ์โดยแท้ จนถึงบัดนี้ คณะกรรมการสองคน จากจำนวน ๒๐ คน จะผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าดูแลทุกวัน ท่านเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นขุมคลังความรู้มหาศาล ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของวัด ชุมชน และวัตถุสิ่งของที่นำมารวบรวมไว้ ได้ดียิ่งกว่าแผ่นป้าย หรือหนังสือนำชมใดๆ

ใช่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ ภายใต้โครงการวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันราชภัฏลำปาง โรงเรียนวัดไหล่หิน และชุมชน ได้ทำให้วัดไหล่หินหลวงมีฐานะกลายเป็น “พิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “แหล่งเรียนรู้” ของนักเรียน ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรียนเพื่อรู้ แต่เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องสืบเนื่องกับชีวิตจริง เช่นการเรียนเกี่ยวกับตุงในวิชาศิลปะ ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้จากผู้อาวุโสในครอบครัวหรือในชุมชน เมื่อเข้าใจแล้วจึงฝึกหัดทำ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ต้องใช้งานจริง จึงมีการจัดงานบุญก่อพระทรายกันที่วัดไหล่หิน อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น ความผูกพันระหว่างเด็กๆ ในชุมชนกับวัดไหล่หิน ยังปรากฏออกมาในรูปของชมรมมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งจะร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัดไหล่หิน เนื่องในโอกาสเทศกาลต่างๆ อีกด้วย

ที่มา : เว็บไซต์วารสารเมืองโบราณ
http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=10
บันทึกเมื่อ 26 มิถุนายน 2547

แก้ไขเพิ่มเติม
เสาร์ 25
ตุลา 51

001 พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
เปิดทุกวัน 07.30-17.00 น.
0-5432-8327, 0-5428-1359
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี -
เนื้อหาการจัดแสดง: วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.216999พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.389999

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง และถือว่าเป็นวัดไม้เก่าแก่ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง การวางผังวัดยึดคติความเชื่อในจักรวาลทางพุทธศาสนา วัดพระธาตุลำปางหลวง สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ภายในบริเวณวัด โดยเฉพาะเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ อาทิ เจดีย์ประธาน วิหารหลวง วิหารน้ำแต้ม วิหารพระพุทธ อุโบสถ หอพระพุทธบาท วิหารต้นแก้ว วิหารละโว้ ซุ้มประตูโขง ล้อมรอบด้วยศาลาบาตรหรือระเบียงคด

พระธาตุ หรือเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดของวัดสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2042 ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา องค์เจดีย์หุ้มแผ่นทองจังโก ที่น่าสนใจคือชุดบัวถลา 3 ชั้นรับองค์ระฆัง อันเป็นลักษณะแบบเจดีย์ทรงลังกาในศิลปะสุโขทัย ที่รั้วรอบเจดีย์มีรูกระสุนปืน ที่กล่าว่าเป็นกระสุนที่หนานทิพย์ช้าง หรือพญาสุลวะลือไชย ต้นสกุลเจ้าเจ็ดตน ได้ยิงท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนซึ่งยกทัพมาตีนครลำปางจนเสียชีวิต

วิหารหลวงและวิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถง รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในมีภาพจิตรกรรม วิหารทั้งสองมีสัดส่วนที่งดงาม และงานศิลปกรรมฝีมือช่างล้านนาในการตกแต่งส่วนต่างๆ อาทิ เครื่องประดับหลังคา ลายปิดทองล่องชาด และภาพเขียนสีภายในอาคาร ก็งดงามน่าชมเช่นกัน วิหารหลวงยังเป็นที่ประดิษฐานกู่พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธานปางมารวิชัยหล่อด้วยสำริด ส่วนกู่นั้นก็มีขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นปิดทองฝีมืองามวิจิตร ซุ้มประตูโขง คือซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออก เป็นทางเข้าหลักของวัด ลักษณะเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนประดับปูนปั้นลวดลายละเอียดเต็มพื้นที่ ยอดซุ้มลดหลั่นเป็นทรงปราสาท ซุ้มประตูโขงนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมล้านนา

พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง มีอาคารที่จัดแสดงข้าวของสำคัญของวัดทั้งหมด 3 หลัง อาคารหลังแรกเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมไม้แกะหลัก เครื่องไม้จำหลัก สัตตภัณฑ์ อาสนะ

อาคารหลังที่สองหรือหอพระแก้ว เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต โถงด้านในสุดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง พร้อมแท่นบูชาที่มีผู้คนมาสักการะ ด้านข้างจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในตู้กระจก อาทิ ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเสด็จเยมพิพิธภัณฑ์ในปี 2507 มูยา(กล้องสูบยาดินเผา) ยอย(ตาชั่ง) เป้ง ตุล(เครื่องชั่ง) เชิงเทียน กำไล เต้าปูน เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ

อาคารหลังที่สาม เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว โถงตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง ผนังด้านข้างทั้งสองด้านเป็นตู้กระจก ภายในจัดแสดง เครื่องแต่งตัวม้า กังสดาลศิลปะล้านนาอายุ 50-100ปี เศษเครื่องปูนปั้นประดับ พางลางเครื่องทำให้เกิดเสียงใช้ต่างบนหลังวัวม้า เชี่ยนหมาก เครื่องเขินศิลปะล้านนาแบบเมืองเชียงใหม่และแบบพม่า แอ๊บยา(กล่องใส่ยาเส้น) พิณเปี๊ยะ เครื่องเบญจรงค์ น้ำต้น(คนโท) ดาบ กล้องสูบยา คัมภีร์จารึกอักษรล้านนา จ.ศ.1078-1182 พระพุทธรูปไม้ พระพิมพ์ เป็นต้น

ข้อมูลจาก :
1. สำรวจภาคสนาม 15 พฤศจิกายน 2548
2. วัดพระธาตุลำปางหลวง. ตำนานพระบรมธาตุลำปางหลวง. ลำปาง: วัดพระธาตุลำปางหลวง, 2544.
3. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2547.หน้า280-281.

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). "ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย" http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-013&word=%