วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

002 พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง



แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลไหล่หิน
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/brochure.php?get_id=34-012

วัดไหล่หินหลวง หมู่ 2 บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
เปิดทุกวัน 08.00-17.00 น.
โทรศัพท์ 0-9433-8284
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัดและชุมชน
ก่อตั้งปี ี2532
เนื้อหาการจัดแสดง: วิถีชีวิตท้องถิ่น/ภูมิปัญญา,วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.216999พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.389999

วัดไหล่หิน หรือวัดเสลารัตนปัพพะตาราม (วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน) เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง วัดแห่งนี้นอกจากจะมีวิหารโบราณฝีมือช่างเมืองเชียงตุง และซุ้มโขงแบบล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของ "หอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สุวรรณกีฏะศรัทธาสามัคคี" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชาวบ้านไหล่หินร่วมกันสร้างขึ้น และได้บริจาควัตถุโบราณต่าง ๆ ไว้เป็นสมบัติของวัดเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า

ปัจจุบันจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม เครื่องใช้ของชาวบ้าน เครื่องรางของขลัง คัมภีร์โบราณ เครื่องดนตรี และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ฯลฯ โบราณวัตถุเหล่านี้นอกจากเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นกิจกรรมของชุมชนแห่งนี้ในอดีตแล้ว ยังสะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีต่อพุทธศาสนา รวมถึงความสามารถในเชิงช่างที่สร้างสรรค์ความงามในรูปแบบของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับการใช้สอย

พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย ของที่เด่นและสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ คัมภีร์ใบลานที่จารเป็นอักษรล้านนาที่มีอายุมากกว่า 500 ปี เครื่องใช้ในพิธีกรรม หรือเครื่องสักการะที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา สิ่งของเหล่านี้นอกจากจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว บางส่วนเก็บรักษาไว้ในโรงธรรม ศาลาการเปรียญ และวิหาร อาทิ จองคำ ค้างเทียน วิหารน้อย ฉางข้าวน้อย เสลี่ยงกง(คานหามที่มีพนักโค้งเหมือนกงเรือ) เครื่องไม้จำหลัก อาสนะที่ใช้วางเครื่องอัฐบริขาร พระพุทธรูปโบราณ พระพิมพ์ดินเผา วิหารไม้พระอุปคุต มณฑปพระเจ้าแก้ว หีบพระธรรม

ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ที่จัดแสดงอาทิ เครื่องใช้ในครัวเรือน สิ่งของที่ชาวบ้านในอดีตใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเขิน เครื่องประดับ เครื่องจักสาน เครื่องดนตรี มีทั้งประเภท ฆ้อง ฉาบ และกลองที่ชาวบ้านเรียกว่า กลองแอว กลองอุ๊ย กลองตะหลดป๊ด เครื่องรางของขลัง ได้แก่ ผ้ายันต์ที่ใช้พันศีรษะ เสื้อ ผ้าคาดเอว ลงอักขระเลขยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันคุ้มครองผู้สวมใส่ให้พ้นภัยต่างๆ มีตะกรุด ลูกประคำ พระเครื่อง นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เป็นชิ้นส่วนอาคารสิ่งก่อสร้างที่วัดเคยมีการรื้อถอนหรือซ่อมแซม บางชิ้นมีลวดลายแกะสลักที่สวยงาม

เอกลักษณ์หนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ตู้ไม้ที่ใช้จัดแสดงสิ่งของนั้น เคยเป็นที่เก็บหีบศพของชาวบ้านมาก่อน โดยชาวบ้านมีความคิดว่า ถ้าทำที่เก็บหีบศพในลักษณะเป็นตู้ เมื่อประกอบพิธีทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว ทางวัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ในภาคเหนือมักนิยมทำเป็นปราสาทกัน

ในปี 2548 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดไหล่หินหลวง และโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกันพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สถานที่ที่จะบอกเล่าวิถีชีวิตคนไหล่หิน แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ใหญ่ และเยาวชน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ร่วมกันทำ อาทิ การทัศนศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การทำทะเบียนวัตถุ การเก็บข้อมูลและสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติข้าวของในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการภาพถ่ายไหล่หินในอดีต

ดู คลิปวิดีโอ ประวัติความเป็นมาพิพิธภัณฑ์ ได้ที่
http://www4.sac.or.th/museumdatabase/clip.php?get_id=34-012

ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 24 กันยายน 2546 และวันที่ 13 สิงหาคม 2547
2. ชุติมา เวทการ. เอกสารแนะนำ "พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง"
3. โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
4. ข่าวสารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดไหล่หินหลวง ฉบับที่
1/2548 , 2/2548 , 3/2548 , 4/2548
ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-012&word=%

นอกจากนั้นยังมีบทความที่กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์นี้อีกคือ

พิพิธภัณฑ์วัดเสลาบัพพาตาราม(วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน)
ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา ลำปาง
เรื่อง: ศรัณย์ ทองปาน

วัดไหล่หินเป็นวัดเล็กๆ ในอำเภอเกาะคา อยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุลำปางหลวงนัก มีตำนานเล่ากันว่าเป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยพระนางจามเทวี สร้างขึ้นก่อนการสถาปนาวัดพระธาตุลำปางหลวง ด้วยเหตุนั้น จึงมีแผนผังคล้ายคลึงกัน เพียงแต่มีสัดส่วนย่อมกว่า นอกจากนั้น ภูมิสถานที่ตั้ง ก็ยังเป็นเนินใหญ่คล้ายกับวัดพระธาตุลำปางหลวง และเป็นที่มาของชื่อ ไหล่หิน (ไหล่/หล่าย คือเนิน) ด้วย

น่ายินดีที่ทางวัดไหล่หินได้รักษาโบราณวัตถุสถานต่างๆ ไว้ได้อย่างดี ปูชนียสถานสำคัญในเขตพุทธาวาสได้แก่ วิหารไม้และองค์พระธาตุ ซึ่งล้อมรอบด้วยศาลาบาตร ทางด้านหน้ามีซุ้มประตูโขง ส่วนในเขตสังฆาวาสก็ยังมีโรงธรรม โครงสร้างไม้ ผนังก่ออิฐถือปูน เป็นที่เก็บรักษาหีบพระธรรม และคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก คัมภีร์บางฉบับที่พบในวัดไหล่หิน มีอายุถึงกว่าห้าร้อยปี

ตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ทางวัดไหล่หิน ริเริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ไว้ ในชั้นต้นนำไปวางแสดงในกุฏิหลังเก่า ต่อมาจึงได้สร้าง “หอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สุวัณณะกีฏะศรัทธาสามัคคี” ขึ้น แยกเป็นเอกเทศออกมา ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๒

ภายใน ตรงกลางห้องประดิษฐานพระพุทธรูปบุเงิน บุทอง ขนาดเล็กๆ จำนวนมากไว้ในตู้ มีลูกกรงเหล็กล้อมรอบไว้อย่างมั่นคงถึงสองชั้น ของอื่นๆ ที่นำมาเก็บไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ ก็มีอาทิเครื่องถ้วย เครื่องเขิน เงินตราโบราณ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี หากแต่ที่โดดเด่นก็คือบรรดาเครื่องไม้จำหลักทางศาสนา นอกจากนั้นก็ยังเครื่องรางของขลัง ผ้ายันตร์และตะกรุดแบบต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นคติความเชื่อในท้องถิ่นที่ยังมิได้มีการศึกษาค้นคว้ากันนัก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือได้ว่ามีกำเนิดมาจากหมู่คณะศรัทธาของชาวบ้านร่วมกับพระสงฆ์โดยแท้ จนถึงบัดนี้ คณะกรรมการสองคน จากจำนวน ๒๐ คน จะผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าดูแลทุกวัน ท่านเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นขุมคลังความรู้มหาศาล ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของวัด ชุมชน และวัตถุสิ่งของที่นำมารวบรวมไว้ ได้ดียิ่งกว่าแผ่นป้าย หรือหนังสือนำชมใดๆ

ใช่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ ภายใต้โครงการวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันราชภัฏลำปาง โรงเรียนวัดไหล่หิน และชุมชน ได้ทำให้วัดไหล่หินหลวงมีฐานะกลายเป็น “พิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “แหล่งเรียนรู้” ของนักเรียน ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรียนเพื่อรู้ แต่เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องสืบเนื่องกับชีวิตจริง เช่นการเรียนเกี่ยวกับตุงในวิชาศิลปะ ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้จากผู้อาวุโสในครอบครัวหรือในชุมชน เมื่อเข้าใจแล้วจึงฝึกหัดทำ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ต้องใช้งานจริง จึงมีการจัดงานบุญก่อพระทรายกันที่วัดไหล่หิน อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น ความผูกพันระหว่างเด็กๆ ในชุมชนกับวัดไหล่หิน ยังปรากฏออกมาในรูปของชมรมมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งจะร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัดไหล่หิน เนื่องในโอกาสเทศกาลต่างๆ อีกด้วย

ที่มา : เว็บไซต์วารสารเมืองโบราณ
http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=10
บันทึกเมื่อ 26 มิถุนายน 2547

แก้ไขเพิ่มเติม
เสาร์ 25
ตุลา 51

ไม่มีความคิดเห็น: