พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุจอมปิง
วัดพระธาตุจอมปิง หมู่ 5 ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
เปิดทุกวัน 08.30-18.00 น.
0-5436-2893
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี 2544
เนื้อหาการจัดแสดง: ประวัติศาสตร์/โบราณคดี,วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.097000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.339996
วัดพระธาตุจอมปิงเป็นวัดเก่าแก่ของลำปาง มีตำนานว่าสร้างขึ้นโดยพระนางเจ้าจามเทวี วัดเคยร้างไปช่วงหนึ่ง ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ท่านนันทปัญญา พี่เลี้ยงของพระเจ้าติโลกราช ได้มาบูรณะวัดแห่งนี้ ในพ.ศ. 2000 เกิดศึกพระยาใต้ยกทัพมาประชิดเมืองลำปาง เจ้าหมื่นด้งนครและพระเจ้าติโลกราชยกทัพมาช่วย สถานที่รบเรียกว่า "มหาสนุก" และได้ฉลองชัยชนะที่วัดนี้ มีการตั้งชื่อวัดว่า "วัดจอมพิงค์ชัยมงคล" ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นวัดจอมปิงในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2518 เจ้าหน้าที่ ร.พ.ช. เข้ามาขุดดินบริเวณหลังวัดเจอโครงกระดูก และโบราณวัตถุหลายชนิด อาทิ กำไล ปลอกแขน ตะขอสำริด(ชิ้นส่วนประกอบเสลี่ยงหรือคานหาม) ตลอดจนลูกปัดหินและแก้ว นอกจากนั้นยังมีการพบโบราณวัตถุอีกบ้างในระหว่างการขุดสร้างบ้านเรือนบริเวณรอบวัด ในปี 2531 ระหว่างการวางท่อประปาในหมู่บ้านก็ขุดพบโบราณวัตถุอีก
ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงเข้ามาตรวจดู พบว่าโบราณวัตถุจำพวก กำไลแก้ว ลูกปัดแก้ว และหินที่พบคล้ายกับแหล่งโบราณคดีที่ตาก กำแพงเพชร ลำพูน และนครสวรรค์ แสดงถึงความสัมพันธ์กันของแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ นอกจากนี้โบราณวัตถุหลายชนิดทำจากสำริด ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง ของที่ขุดพบส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่วิหารของวัด ต่อมาเจ้าอาวาสพระธาตุจอมปิง พระอธิการอดุล ทนตจิตโจ ร่วมกับชาวบ้านได้ก่อสร้างอาคารเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบดังกล่าว เปิดให้ประชาชนเข้าขมอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ พ.ศ.2544
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในห้องโถง กลางห้องตั้งตู้จัดแสดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6x2 เมตร ปิดกระจกโดยรอบ 1 ตู้ ภายในตู้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบบริเวณวัด อาทิ เศษภาชนะดินเผา กำไลหิน กำไลสำริด ใบหอก ลูกปัด ต่างหู นอกจากนี้จัดมีของสะสมของวัด ได้แก่ พระพุทธรูป กล้องสูบยาดินเผา ที่ใส่ดินปืนทำจากเขาสัตว์ ผ้ายันต์ ตะกรุด เชี่ยนหมาก โดยจัดวางเรียงเป็นกลุ่มพร้อมป้ายคำบรรยายวัตถุภาษาไทยบางรายการ ด้านบนของตู้ติดตั้งหลอดไฟลูออเรสเซนส์สีต่างๆ เพื่อให้แสงสว่างแก่โบราณวัตถุศิลปวัตถุที่จัดแสดง ด้านข้างตู้จัดแสดงใหญ่ ยังมีตู้เก็บคัมภีร์ใบลานอีกหนึ่งตู้ และมีแท่นประดิษฐานรูปปั้นของหลวงพ่อแก้ว จิรธมโม(ไชยราช) อดีตเจ้าอาวาส พร้อมป้ายประวัติชีวิตของหลวงพ่อแก้วที่เขียนด้วยลายมือบนฝาผนังด้านหลัง
ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548
2. กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546. หน้า 94.
ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-011&word=%
วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น