วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

005 ห้องแสดงศิลปวัตถุ วัดปงสนุก

วัดปงสนุก
ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ติดต่อประธานชุมชน
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัดและชุมชน
ก่อตั้งปี เนื้อหาการจัดแสดง: วัดพิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.295000พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.497002


วัดปงสนุกเหนือเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างร่วมสมัย พระเจ้าอนันตยศเสร็จมาทรงสร้างเมืองเขลางค์นคร เมื่อ พ.ศ. 1223 วัดปงสนุก เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ตามหลักฐานในจารึกที่พบในที่ต่าง ๆ มีอยู่ 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว(พะเยา)

ชุมชนเดิมบริเวณวัดปงสนุกเป็นผู้คนที่อพยพมาจาก 2 ที่ด้วยกัน คือจากการกวาดต้อนครั้งที่ลำปางไปรบกับเมืองเชียงแสน ราว พ.ศ. 2364 และจากเมืองพะเยาเมื่อชาวเมืองคราวหนีศึกพม่า ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองเชียงแสนและเมืองพะเยา แม้เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใหม่ ก็ยังรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนเดิม จึงได้เอานามชื่อวัดและชื่อบ้านมาเรียก โดยชาวพะเยาก็เรียกวัดพะยาว(พะเยา) ชาวเชียงแสนก็เรียกวัดปงสนุก ซึ่งเป็นชื่อบ้านเดิมของตนในเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันวัดปงสนุก ใน อ.เชียงแสน ก็ยังมีอยู่

ปัจจุบันวัดปงสนุก แยกเป็น 2 วัด ทั้งที่อาณาเขตก็ไม่กว้างขวางเท่าใด คือ วัดปงสนุกเหนือ และวัดปงสนุกใต้ สาเหตุที่แยกเนื่องมาจากพระสงฆ์ สามเณร ในอดีต มีจำนวนมาก จึงแบ่งกันช่วยดูแลรักษาวัด แต่ถึงอย่างไรทั้งสองวัดก็นับถือกันว่าเป็นวัดพี่วัดน้องอาศัยช่วยเหลือกันมาโดยตลอด

วัดปงสนุกในอดีตถือว่าเป็นวัดที่มีสำคัญและมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับเมืองลำปาง อาทิ เป็นสถานที่ดำน้ำชิงเมืองบริเวณหน้าวัดระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้วและเจ้าลิ้นก่าน ราวปี พ.ศ. 2302 และยังเป็นสถานที่ฝังเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง หลักแรก เมื่อ พ.ศ. 2400 สมัยเจ้าหลวงเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม เสาหลักเมืองดังกล่าว ถูกย้ายไปฝังไว้ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน

สิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากวัดทั่วๆ ไป ของวัดปงสนุก คือ ม่อนดอย เนินเขาพระสุเมรุจำลอง อันเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑปหลังคาซ้อนสามชั้น บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย สื่อความหมายถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ ลักษณะตัวอาคารผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน หลงเหลือเพียงอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ ประทับนั่งใต้โพธิพฤกษ์ทำด้วยตะกั่ว ด้านล่างของฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ นกอินทรี มีความเชื่อสืบกันมาว่า วิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

ด้วยความงดงามของวิหารแห่งนี้ทำให้กลายเป็นแรงบันดาลในการสร้างสถาปัตยกรรมในสมัยหลัง อาทิ หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และวิหารสี่ครูบา วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ราวปี 2548 ที่ผ่านมา ทางชุมชนปงสนุกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและโบราณคดี และนักวิชาการท้องถิ่น ได้หารือและร่วมกันก่อตั้งโครงการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ขึ้น หลังจากนั้นทางวัดและชุมชนจึงตื่นตัวในการอนุรักษ์และรักษามรดกท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ห้องแสดงศิลปวัตถุ วัดปงสนุก ได้รับการจัดตั้งด้านข้างวิหารพระเจ้าพันองค์ เป็นศาลาชั้นเดียวขนานไปกับกำแพงบนม่อนดอย จัดแสดงโบราณวัตถุดั้งเดิมของวัดราว 4-5 ชิ้น ได้แก่ อาสนา สัตตภัณฑ์ ขันดอก แผงพระไม้ ติดกันเป็นห้องแสดงภาพถ่ายของวัดปงสนุก ฝีมือการถ่ายภาพโดยคุณแอนเจลา ศรีสมวงศ์วัฒนา แต่ปัจจุบันนิทรรศการดังกล่าวได้ถูกเก็บออกไปแล้ว หากแต่ภาพถ่ายดังกล่าวได้นำมาจัดพิมพ์เป็นชุดโปสการ์ด ออกขายเมื่อหารายได้เข้ามาบูรณะวิหารของวัด

การเกิดขึ้นของโครงการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเข้ามาสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น นำมาซึ่งโครงการและกิจกรรมอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดปงสนุกเหนือและใต้ โครงการค้นคว้าศึกษาคัมภีร์ใบลาน และล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 คือ นิทรรศการภาพพระบฏ ตุงค่าว จาวเขลางค์ ที่จัดแสดงตุงค่าวอายุราว 100 ปี ที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญในหอไตรของวัดระหว่างการทำงานบูรณะวิหาร เป็นตุงที่ทำด้วยผ้าเนื้อละเอียดและบางส่วนเป็นตุงกระดาษสา จำนวนหลายสิบชิ้น แต่ละชิ้นเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดกด้วยลวดลายวิจิตรสวยงาม ในอดีตใช้ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติของวัด

ข้อมูลจาก :
1.สำรวจภาคสนาม วันที่ 5 พฤศจิกายน 2549

2.พระครูพุทธิธรรมโสภิต. ประวัติวัดปงสนุกเหนือ และ ประวัติ, บันทึกครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี. ลำปาง: วัดปงสนุก, 2549
3.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์. วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง. เมืองโบราณ 32: (เม.ย. - มิ.ย. 2549).
....................
หมายเหตุ : ข้อมูลยังต้องการการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวของวัดปงสนุกเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี2548

ที่มา : http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-017&word=%

ไม่มีความคิดเห็น: