วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
เปิดทุกวัน 07.30-17.00 น.
0-5432-8327, 0-5428-1359
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดย วัด
ก่อตั้งปี -
เนื้อหาการจัดแสดง: วัด
พิกัดเส้นรุ้ง(latitude): ประมาณ 18.216999พิกัดเส้นแวง(longitude): ประมาณ 99.389999
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง และถือว่าเป็นวัดไม้เก่าแก่ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง การวางผังวัดยึดคติความเชื่อในจักรวาลทางพุทธศาสนา วัดพระธาตุลำปางหลวง สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ภายในบริเวณวัด โดยเฉพาะเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ อาทิ เจดีย์ประธาน วิหารหลวง วิหารน้ำแต้ม วิหารพระพุทธ อุโบสถ หอพระพุทธบาท วิหารต้นแก้ว วิหารละโว้ ซุ้มประตูโขง ล้อมรอบด้วยศาลาบาตรหรือระเบียงคด
พระธาตุ หรือเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดของวัดสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2042 ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา องค์เจดีย์หุ้มแผ่นทองจังโก ที่น่าสนใจคือชุดบัวถลา 3 ชั้นรับองค์ระฆัง อันเป็นลักษณะแบบเจดีย์ทรงลังกาในศิลปะสุโขทัย ที่รั้วรอบเจดีย์มีรูกระสุนปืน ที่กล่าว่าเป็นกระสุนที่หนานทิพย์ช้าง หรือพญาสุลวะลือไชย ต้นสกุลเจ้าเจ็ดตน ได้ยิงท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนซึ่งยกทัพมาตีนครลำปางจนเสียชีวิต
วิหารหลวงและวิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถง รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในมีภาพจิตรกรรม วิหารทั้งสองมีสัดส่วนที่งดงาม และงานศิลปกรรมฝีมือช่างล้านนาในการตกแต่งส่วนต่างๆ อาทิ เครื่องประดับหลังคา ลายปิดทองล่องชาด และภาพเขียนสีภายในอาคาร ก็งดงามน่าชมเช่นกัน วิหารหลวงยังเป็นที่ประดิษฐานกู่พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธานปางมารวิชัยหล่อด้วยสำริด ส่วนกู่นั้นก็มีขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นปิดทองฝีมืองามวิจิตร ซุ้มประตูโขง คือซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออก เป็นทางเข้าหลักของวัด ลักษณะเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนประดับปูนปั้นลวดลายละเอียดเต็มพื้นที่ ยอดซุ้มลดหลั่นเป็นทรงปราสาท ซุ้มประตูโขงนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมล้านนา
พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง มีอาคารที่จัดแสดงข้าวของสำคัญของวัดทั้งหมด 3 หลัง อาคารหลังแรกเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมไม้แกะหลัก เครื่องไม้จำหลัก สัตตภัณฑ์ อาสนะ
อาคารหลังที่สองหรือหอพระแก้ว เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต โถงด้านในสุดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง พร้อมแท่นบูชาที่มีผู้คนมาสักการะ ด้านข้างจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในตู้กระจก อาทิ ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเสด็จเยมพิพิธภัณฑ์ในปี 2507 มูยา(กล้องสูบยาดินเผา) ยอย(ตาชั่ง) เป้ง ตุล(เครื่องชั่ง) เชิงเทียน กำไล เต้าปูน เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ
อาคารหลังที่สาม เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว โถงตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง ผนังด้านข้างทั้งสองด้านเป็นตู้กระจก ภายในจัดแสดง เครื่องแต่งตัวม้า กังสดาลศิลปะล้านนาอายุ 50-100ปี เศษเครื่องปูนปั้นประดับ พางลางเครื่องทำให้เกิดเสียงใช้ต่างบนหลังวัวม้า เชี่ยนหมาก เครื่องเขินศิลปะล้านนาแบบเมืองเชียงใหม่และแบบพม่า แอ๊บยา(กล่องใส่ยาเส้น) พิณเปี๊ยะ เครื่องเบญจรงค์ น้ำต้น(คนโท) ดาบ กล้องสูบยา คัมภีร์จารึกอักษรล้านนา จ.ศ.1078-1182 พระพุทธรูปไม้ พระพิมพ์ เป็นต้น
ข้อมูลจาก :
1. สำรวจภาคสนาม 15 พฤศจิกายน 2548
2. วัดพระธาตุลำปางหลวง. ตำนานพระบรมธาตุลำปางหลวง. ลำปาง: วัดพระธาตุลำปางหลวง, 2544.
3. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2547.หน้า280-281.
ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). "ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย" http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=34-013&word=%
วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น